เลือกหน้า

พ่อ : “สำนักงานนี้ มันอยู่แยกไหนนะ พ่อไม่คุ้นแถวนั้นเลย”
แม่ : “น่าจะอยู่ใกล้ ๆ โรงเรียนสอนดนตรีที่แม่เคยอยู่นะจ๊ะพ่อ”
พ่อ : “ไม่ได้ไปนานแล้วด้วยสิ”

เอพี เด็กชายชาวมนุษย์ เห็นพ่อกับแม่ ซึ่งเป็นไดโนเสาร์ กำลังขะมักเขม้นตั้งใจดูแผนที่กระดาษ เพื่อหาที่ตั้งของสำนักงานใหม่ที่พ่อจะไปสมัครงาน จึงพยายามแนะนำให้พ่อลองใช้เทคโนโลยีเข้าช่วย

เอพี : “พ่อก็เปิดแอปพลิเคชั่นนำทาง แค่ขับไปตามที่โทรศัพท์บอก ง่ายมาก ถึงจะไปดาวอังคารก็ไม่หลง”
พ่อ : “แผนที่ในโทรศัพท์เชื่อได้ที่ไหน เห็นข่าว ว่าพาไปทางที่ไม่มีถนนอยู่บ่อย ๆ”
พ่อ : “แผนที่กระดาษนี่แหละแม่นยำเชื่อถือได้ที่สุด”
เอพี : “แผนที่ที่พ่อดู นั่นมันตั้งแต่ก่อนผมเกิดอีกมั้ง ป่านนี้เขาตัดถนนใหม่จนเปลี่ยนไปหมดแล้ว”
พ่อ : “เด็กจะมารู้ดีกว่าผู้ใหญ่ได้ยังไง”

หลังบรรยากาศตึงเครียด พ่อเริ่มเสียงแข็ง แม่จึงรีบเข้ามาช่วยไกล่เกลี่ย ให้ลองเปิดใจรับฟังคำแนะนำจากลูกชายบ้าง นี่เป็นบทสนทนาสะท้อนมุมมองความแตกต่างระหว่างวัย ที่เกิดขึ้นในการ์ตูนชุด“ไดโนแอลฟา” ตอนพ่อผู้ไม่อยากเปลี่ยนแปลง การ์ตูนแนวไซไฟสำหรับเด็กก่อนวัยประถม ที่สร้างขึ้นจากความตั้งใจของ นภดล แก้วบำรุง และทีมงานผู้สร้างการ์ตูนแอนิเมชั่นเรื่องปังปอนด์และก้านกล้วย ที่อยากให้คนเข้าใจเด็กGenแอลฟามากขึ้น

“ยุคนี้เป็นยุคที่เด็กGenแอลฟา และไดโนรุ่นปู่ย่า มีความแตกต่างกันค่อนข้างมาก มันมีความทันสมัย โลกมันไปไกลมาก เด็กสามารถทำงานสิ่งต่าง ๆ ได้โดยง่าย เพราะมีเทคโนลยีช่วย ไม่ต้องใช้เวลานานเหมือนรุ่นพ่อแม่ ในอดีตเราไม่ได้รู้สึกห่างจากพ่อแม่ขนาดนี้ เราจึงอยากสร้างการ์ตูนสะท้อนให้เด็กGenแอลฟา มองเห็นและเข้าใจตัวเอง ว่าเขามีบุคลิกนิสัยเป็นแบบนี้นะ แล้วผู้ใหญ่เป็นยังไง ในอีกด้านหนึ่งก็อยากย้ำเตือนให้พ่อแม่รู้จักธรรมชาติของพวกเขา ซึ่งอาจจะนำไปสู่การเปลี่ยนมุมมองและหาวิธีเลี้ยงดูลูกในรูปแบบใหม่ ๆ ให้ทันกับยุคสมัยด้วย”

การ์ตูนชุด“ไดโนแอลฟา” มีทั้งหมด 10 ตอน ได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ประเภทเปิดรับทั่วไป ประจำปี 2565 โดยเนื้อหาในแต่ละตอน เด็กชายเอพีและครอบครัวไดโนเสาร์ของเขา จะพาไปทำกิจกรรมในสถานการณ์ต่าง ๆ ที่ได้ทั้งความสนุกสนานและแง่คิดในการใช้ชีวิตร่วมกับเด็กGenแอลฟา ทีมงานใช้เวลาผลิตการ์ตูนชุดนี้เพียง 7 เดือน เนื่องจากมีความเชี่ยวชาญในการสร้างการ์ตูนแอนิเมชั่นสำหรับเด็กอยู่แล้ว แต่ในระหว่างทางก็ยอมรับว่ามีประเด็นท้าทายอยู่มาก โดยเฉพาะการสร้างการ์ตูนให้ตอบโจทย์กับเนื้อเรื่อง ดูสมูท และสนุก รวมถึงเรื่องการดีไซน์ฉาก ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ต้องใช้เวลาค่อนข้างมาก

“ตอนเสนอโครงการ เรามีไอเดียทุกอย่างอยู่ในหัวเราแล้ว ทั้งตัวละคร และพล็อตเรื่องที่มีเด็กชายชาวมนุษย์และพ่อแม่ซึ่งเป็นไดโนเสาร์ มาConflictกัน ทะเลาะกัน แต่สิ่งที่เรายังมองไม่ค่อยออก ก็คือ ตึกรามบ้านช่อง ว่ามันควรจะออกมาเป็นยังไง ทันสมัยระดับไหน เพราะถ้าจะใช้ฉากที่เป็นบ้านเรือนในยุคปัจจุบันมันก็จะดูแปลก ๆ ไม่เข้ากัน เนื่องจากในเรื่องมีไดโนเสาร์ด้วย อย่างพ่อของพระเอกในเรื่องเป็นไดโนเสาร์คอยาว เราก็ต้องดีไซน์กระจกรถให้มันยาวขึ้นไปด้วย ส่วนประตูบ้านทางเข้าก็ต้องสูงกว่าคนทั่วไป ในขั้นตอนนี้ต้องคิดกันอยู่นาน สุดท้ายผมไปได้ไอเดียมาจากตัวเติมน้ำมันของปั๊มเอสโซ่ ที่เป็นเสายาวขึ้นไปแล้วโค้ง ๆ พอเห็นตัวนี้ก็คิดออกเลย สร้างฉากเมืองได้ทั้งเมือง เพราะหน้าตามันดูคล้ายไดโนเสาร์สำหรับผม ความยากมันจึงอยู่ที่การออกแบบฉากบ้านเมืองให้เหมาะกับบริบทของเรื่อง รวมทั้งต้องทำให้น่าสนใจและดึงดูดสำหรับเด็ก ๆ ด้วย จึงใช้เวลาคิดกันอยู่นาน กว่าจะได้ไอเดียนี้ออกมา”

นอกจากความน่ารักของไดโนเสาร์แล้ว ฉากบ้านเมืองในยุคอนาคต ที่ไม่มีสายไฟ ใช้กังหันลมผลิตไฟฟ้า มีหุ่นยนต์และยานบินใช้ส่งของส่งอาหาร ความทันสมัยที่ไม่ได้ดูไปไกลจากยุคปัจจุบันมาก ก็ทำให้การ์ตูนชุด “ไดโนแอลฟา” ได้รับความสนใจอย่างมากจากเด็ก ๆ และผู้ปกครอง

“เด็ก ๆ ที่มีโอกาสได้ดู เขาก็ชอบ บอกว่าสนุกดี ส่วนพ่อแม่ก็บอกว่าเป็นการ์ตูนที่ให้ความรู้ดี ทำให้พวกเขาเข้าใจนิสัยของเด็กGenแอลฟามากขึ้น อยากให้ผลิตการ์ตูนแนวนี้ออกมาอีกเรื่อย ๆ ”

“ไดโนแอลฟา” เริ่มนำเสนอตอนแรกตั้งแต่กลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ผ่านทางช่อง ALTV และช่อง Thai PBS สำหรับใครที่ยังไม่มีโอกาสได้ชม สามารถไปหาชมย้อนหลังกันได้ที่ ยูทูบ Dino-Alpha การ์ตูนที่เล่าเรื่องแบบง่าย ๆ แต่แฝงไปด้วยความสนุกสนาน ความทันสมัย รวมถึงแง่คิดที่จะทำให้รู้จักและเข้าใจเด็กGenแอลฟา เข้าใจความแตกต่างระหว่างวัยได้มากขึ้น