เลือกหน้า

แม้ในปัจจุบัน คำว่า Fake News จะถูกนิยามในความหมายของคำว่า “ข่าวปลอม” หรือ “ข่าวลวง” โดย วรรณวจี สุจริตธรรม นักวิชาการ อพวช. (องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ) ได้อธิบายความหมายของคำว่า Fake News จากคณะกรรมาธิการยุโรป และในบริบทการเมืองของสหรัฐอเมริกา สามารถสรุปได้ว่า ข่าวลวงหมายถึงข่าวที่มีเนื้อหาอันไม่เป็นข้อเท็จจริง หลอกหลวง หรือข่าวสร้างสถานการณ์ รวมถึงการเขียนข่าวที่ได้รับการสนับสนุนอย่างปิดบังหรือแอบแฝง ซึ่งนำเสนอในสื่อสังคมและแพลตฟอร์มออนไลน์อื่น ๆ

 

          งานศึกษาเรื่อง ข่าวลวง: ปัญหาและความท้าทาย ของ เฉลิมชัย ก๊กเกียรติกุล และ ธัญญนนทณัฐ ด่านไพบูลย์ (2561) ได้กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า คณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) ให้นิยามข่าวลวง หมายถึงข้อมูลชุดหนึ่งที่ทำ ขึ้นมา โดยมีเจตนาจะบิดเบือนและโจมตีบุคคล กลุ่มคน หรือองค์กร และบางครั้งข่าวลวงหมายความรวมถึงการเขียน ข่าวเชิงลบ การโฆษณาชวนเชื่อทางการเมือง และรูปแบบโฆษณาที่ชวนให้เข้าใจผิดจากทัศนคติของผู้รับสาร รวมถึงการรายงานข่าวในรูปแบบเสียดสีและมีการให้ข้อมูลที่ผิด โดยเจตนาโจมตีทางไซเบอร์ เมื่อนิยามอย่างแคบ ข่าวลวงเป็นข่าวที่ถูกสร้างขึ้นในการรายงานข่าว ซึ่งรวมถึงสำนักข่าว นักการเมือง รวมถึงบริษัทผู้ผลิตแฟลตฟอร์ม (European Commission, 2017)

 

          ข่าวลวงในบริบทของการเมืองสหรัฐอเมริกามีการหยิบยกมาอภิปรายอย่างแพร่หลายในช่วงการเลือกตั้งประธานาธิบดี ค.ศ. 2016 พรรคเดโมแครตและริพับลิกันต่างกล่าวหาซึ่งกันและกันและกล่าวหาว่าสื่อมวลชน ที่ไม่เป็นกลาง เข้าข้างอีกพรรคหนึ่งกุข่าวเท็จขึ้นมาใส่ร้าย ดังนั้นข่าวลวงในบริบทของการเมืองและการหาเสียงเลือกตั้งกลายเป็นข่าวโกหกและใส่ร้ายซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมทางการเมืองและดูเหมือนจะแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็วและควบคุมได้ยาก เนื่องจากมีการใช้สื่อใหม่เป็นเครื่องมือในการแพร่กระจาย (เฉลิมชัย ก๊กเกียรติกุล และธัญญนนทณัฐ ด่านไพบูลย์, 2561) เช่นเดียวกับบทความเรื่อง “ที่มาของคำว่า เฟคนิวส์และทำไมเราถึงควรเลิกใช้คำนี้” โดย ธนภณ เรามานะชัย (2565) ได้กล่าวว่า เฟคนิวส์ เป็นวาทกรรมที่ถูกใช้มากในสหรัฐฯ ในช่วงสองปีสุดท้ายของการดำรงตำแหน่งของอดีตประธานาธิบดี บารัก โอบามา โดยเฉพาะโดนัลด์ ทรัมป์ มักจะนำข้อมูลลวงมาใช้โจมตีฮิลลารี คลินตัน และมีการใช้สื่อโซเชียล เช่นเฟสบุ๊ก ในการกระจายข้อมูลลวงเหล่านี้ จนทำให้เกิดกระแสการสร้างกลุ่มต่าง ๆ ทางการเมือง

 

          จากการจัดประชุมทางออนไลน์ระหว่าง Media Alert กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กับตัวแทนภาคีกลไกตรวจสอบข้อมูลข่าวสาร คือ ศูนย์ชัวร์ บจม.อสมท , Cofact ประเทศไทย , GNI Google News Initiative และ สำนักข่าว AFP ประเทศไทย เมื่อ 10 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา เพื่อหาแนวทางพัฒนาความร่วมมือเพื่อการทำงานตรวจสอบข่าวปลอมในประเทศไทย ก่อนการหารือตามจุดมุ่งหมายการประชุม ได้มีการพูดคุยในประเด็นการใช้คำ Fake News ว่าควรมีทิศทางอย่างไร เพื่อให้สอดคล้องกับความหมายที่แท้จริง

 

ธนภณ เรามานะชัย (ไมค์) Fact-checker และ คอลัมนิสต์ประจำ Cofact Thailand  ได้กล่าวถึงนิยาม “ข่าวปลอม” โดยสรุปว่า “ข่าวปลอมถูกนำมาใช้เป็นวาทกรรมทางการเมือง โดย Donald Trump (อดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา) จึงไม่เหมาะสมนำมาใช้ในการทำงานการตรวจสอบข้อมูล เพราะเป็นการตอกย้ำและให้เครดิตการคิดคำของ Donald Trump อย่างเช่นสถานการณ์ January 6 ที่มีหลักฐานชัดเจนว่า Donald Trump สนับสนุนให้เกิดเหตุการณ์นี้ โดยใช้คำว่า Fake News ในการกล่าวหา ดังนั้นแล้ว Fake News ควรเลิกใช้เพราะเป็นวาทกรรมทางการเมือง มีความอันตรายต่อหลักการทางประชาธิปไตย” ในขณะเดียวกันคุณไมค์ได้นำเสนอข้อมูลดังกล่าวผ่านบทความเรื่อง ที่มาของคำว่า เฟคนิวส์และทำไมเราถึงควรเลิกใช้คำนี้ เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2021 ซึ่งเป็นวันที่สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาสหรัฐฯ ลงคะแนนรับรองผลการเลือกตั้งให้โจ ไบเดน ประธานาธิบดีคนใหม่ ซึ่งทรัมป์และพวกใช้วาทกรรมเฟคนิวส์ และการไม่รับซึ่งผลการเลือกตั้งเพื่อเป็นเหตุผลให้เกิดการก่อจลาจล ส่งผลให้มีตำรวจและผู้ชุมนุมเสียชีวิต 9 ราย

 

          นอกจากนี้แล้ว คุณไมค์ ธนภณ เรามานะชัย ยังได้แนะนำการใช้ถ้อยคำอื่นที่แทนความหมายของคำว่าข่าวปลอมได้ดีกว่าเช่น Misinformation (ข้อมูลเท็จ,ข่าวลวง) หรือ Disinformation (ข้อมูลบิดเบือน,ข่าวหลอก) ซึ่งมีความหมายที่ชัดเจน และเหมาะสมกว่าคำว่าข่าวปลอม เช่นเดียวกับณัฐกร ปลอดดี บรรณาธิการฝ่าย Fact Check จาก AFP ประจำประเทศไทย ได้กล่าวถึงความสำคัญของการเลือกใช้คำที่เหมาะสม

 

“ทาง AFP มีมาตรวัดในเนื้อหาและคำกล่าวอ้างดังกล่าวที่เป็นเท็จจริงแค่ไหน เป็นตัวเลขระดับ 1 ถึง 5 แต่ที่ใช้ในปัจจุบัน คือ False เป็นเท็จ , Misleading ทำให้เข้าใจผิด บิดเบือน , Missing Context บริบทที่ทำให้เข้าใจผิด แต่จะไม่ใช่คำว่า Fake News เพราะข่าวปลอมถูกนำมาใช้เพื่อลดค่าข้อมูลที่สื่อพยายามนำเสนอ เช่น Donald Trump ใช้คำว่า Fake News บ่อยมากและไม่เคยตรวจสอบว่า Fake news นี้มันปลอมตรงไหนและจริงแค่ไหน แต่เป็นการพูดเพื่อตัดราคาหรือเป็นคำกล่าวอ้างบางชุดเท่านั้น เป็นการพูดเรื่องข่าวปลอมแค่อันนี้จริง อันนี้ปลอมเท่านั้น”

 

          จากข้อมูลข้างต้นว่า “ข่าวปลอม” หรือ “Fake News” มีการทำงานของวาทกรรมทางการเมืองอยู่เบื้องหลัง ซึ่งไม่ได้ทำหน้าที่แค่นิยามความหมายหรือลักษณะของข้อมูลเท่านั้น ดังนั้น นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญต่างมองว่า การให้ความรู้เรื่องการตรวจสอบข้อมูลข่าวสาร ว่าข้อมูลชุดนี้ปลอมตรงไหน เท็จจริงมากแค่ไหน จึงควรมีการให้ข้อมูลที่ลึกกว่าคำว่าข่าวปลอมเท่านั้น

 

          สิ่งสำคัญของการเปลี่ยนแปลงความหมายหรือคำนิยามของคำว่าข่าวปลอมในครั้งนี้ คือการสื่อสารไปยังประชาชนทุกกลุ่มที่มีภาพจำกับคำว่า “ข่าวปลอม” โดยคุณพีรพล อนุตรโสตถิ์ ผู้จัดการศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ บมจ.อสมท แนะนำให้สื่อมวลชนทุกแขนงปรับเปลี่ยนการนำเสนอคำว่าข่าวปลอมเสียใหม่ เพื่อสร้างกระบวนการเปลี่ยนแปลงและสร้างความเข้าใจใหม่ให้กับผู้รับข่าวสารในสังคมไทย

 

          แม้ว่าคนไทยจะเคยชินกับคำว่าข่าวปลอมมาเป็นเวลาช่วงหนึ่งแล้ว แต่ถ้าความหมายของข่าวปลอมเกี่ยวข้องกับวาทกรรมทางการเมือง ดังนำเสนอข้างต้น  จึงเห็นว่า สื่อมวลชน สื่อประเภทอื่น หรือ บุคคลสาธารณะอื่น ๆ ควรปรับใช้คำที่เหมาะสมกว่า เช่น ข่าวลวง หรือข่าวหลอก เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง จากปัจจุบันสู่อนาคต

 

ด้าน คุณสุภิญญา กลางณรงค์ ได้กล่าวว่า ทาง Co-Fact ใช้คำว่า ข่าวลวง ข่าวปลอม การหักล้างหรือการตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยใช้การแปลจากภาษาอังกฤษโดยตรง เพื่อสร้างความเข้าใจที่ตรงกับความหมายที่แท้จริง และไม่ผลิตสร้างภาพจำทางการเมืองในแง่ความหมายของคำว่า ข่าวลวง หรือข่าวปลอม

 

          ในส่วนของ ดร.ชำนาญ งามมณีอุดม รองผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวปิดท้ายการหารือในประเด็นการใช้คำ Fake News ครั้งนี้ว่า ทางกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์จะนำข้อมูลและข้อเสนอจากการหารือครั้งนี้ไปพัฒนาการใช้ถ้อยคำที่ไม่ไปเสริม ย้ำ หรือ ผลิตสร้างวาทกรรมทางการเมือง ในความหมายของข่าวปลอม ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญ แต่ก็ต้องค่อย ๆ สร้างกระบวนการเรียนรู้ และสื่อสารการเปลี่ยนแปลงของคำข่าวปลอมสู่การใช้คำอื่น เช่น ข่าวลวง หรือข่าวหลอก ซึ่งจะส่งผลต่องานบูรณาการการตรวจสอบข้อมูลข่าวสาร และการสร้างมาตรฐานอื่น ๆ ร่วมกันต่อไปในอนาคต

 

ที่มา

1 เฉลิมชัย ก๊กเกียรติกุล และธัญญนนทณัฐ ด่านไพบูลย์. (2561). Fake News : Problems and Challenge. NBTC Journal, 2(2), 173–192. Retrieved from https://so04.tci-thaijo.org/index.php/NBTC_Journal/article/view/146058 

2 ธนภณ เรามานะชัย. (2565). ที่มาของคำว่า “เฟคนิวส์และทำไมเราถึงควรเลิกใช้คำนี้ COFACT SPECIAL REPORT #13. สืบค้นจาก. https://blog.cofact.org/special-report-13/

3. วรรณวจี สุจริตธรรม. (มปป). Fake News รู้ทันข่าวลวง ปัญหาบนโลกออนไลน์ สืบค้นจาก https://www.nsm.or.th/other-service/666-online-science/knowledge-inventory/sci-article/sci-article-information-technology-museum/4242-fake-news.html