คำค้น Google Trends ประจำปีสะท้อนอะไร?
ช่วงการอำลาปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ มักเป็นช่วงเวลาของการทบทวน ประมวลเหตุการณ์ที่ประสบพบเจอในช่วงปีที่ผ่านมา วันนี้ Media Alert จะชวนย้อนเวลาทบทวน Trends หรือความนิยม จาก “คำค้น” ยอดนิยมใน Google ช่วงปีที่กำลังจะผ่านไป
ช่วงปลายปี 2564 Google ได้เปิดผล Google Trends ในแต่ละประเด็นได้แก่ คำค้นหายอดนิยม ข่าว ต้นไม้ บริจาค บุคคล ร้านค้า และสถานที่เที่ยว โดยในหมวดคำค้นยอดนิยมนั้นพบว่าผู้ใช้สื่อออนไลน์ส่วนใหญ่ให้ความสนใจข้อความที่เกี่ยวกับโรคระบาดโควิด 19 มากที่สุด ได้แก่ เราชนะ, คนละครึ่ง, วัคซีนโควิด, ม.33 เรารักกัน, โควิดวันนี้ และอาการโควิด รองลงมาเป็นประเด็นเกี่ยวกับความบันเทิงและประเด็นอื่น ๆ เช่น ละคร เกม และลอยกระทง
งานการสำรวจสถานการณ์การสื่อสารทางออนไลน์ของ Media Alert ช่วงเดือน เม.ย. ถึง มิ.ย.64 ได้นำผล Google Trends มาสรุปประเด็นเนื้อหาที่มีการสืบค้นมากสุด จาก Google Trends ในภาพรวม เป็นกลุ่มประเด็นและคำสืบค้น ดังนี้
1) ผลสลากกินแบ่งรัฐบาล เลขเด็ด
2) กีฬา
3) สถานการณ์โควิด-19
โดยพบว่า มีการสืบค้นข้อมูลที่เกี่ยวกับผลสลากกินแบ่งรัฐบาล เลขเด็ด เป็นอันดับแรก ทั้งในเดือน เม.ย. และ พ.ค. ยกเว้นเดือน มิ.ย. ที่พบว่ามีการสืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด 19 มากที่สุด ทำให้เรื่องผลสลากกินแบ่งรัฐบาล เลขเด็ด และเรื่องกีฬา ตกลงไปอยู่ในอันดับ 2 และ 3
เมื่อแจกแจงข้อความที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลที่ Google จัดรวบรวมไว้ นำเสนอเป็นกราฟ ได้ดังนี้
จะเห็นได้ว่า แม้ว่าคำว่า ตรวจหวย กับ หวย จะถูกค้นหาอย่างสม่ำเสมอทุกเดือน แต่คำว่าเราชนะ และ คนละครึ่ง ก็มีช่วงเวลาที่ถูกค้นหามากที่สุด และสูงกว่าคำ ตรวจหวย หรือ หวย ทำให้เห็นได้ชัดว่าความนิยมของคำค้นขึ้นอยู่สถานการณ์ ณ ช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง เมื่อเลยช่วงเวลานั้นแล้วความสนใจก็ลดลงไป จึงทำให้คำว่าเราชนะ และ คนละครึ่งกลายเป็นคำค้นยอดนิยมของปี 2564 การที่คำค้นยอดนิยมที่สุดคือ เราชนะ คนละครึ่ง รวมไปถึง ตรวจหวย และหวย เหล่านี้กำลังสะท้อนอะไรจากผู้ใช้สื่อออนไลน์
แสดงให้เห็นว่า ในช่วงปี 2564 คนไทยที่ใช้สื่อออนไลน์ ให้ความสนใจในสองประเด็นที่มีความแตกต่างกันตามช่วงเวลา และเมื่อเจาะจงไปในพื้นที่หรือจังหวัดที่ผู้ใช้สื่อออนไลน์ค้นหาคำเหล่านี้ พบว่า มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน
จากข้อมูลข้างต้นแสดงว่าคำค้นหาที่เกี่ยวกับ เราชนะ นั้น ส่วนใหญ่เป็นการค้นหาจากกลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานคร แตกต่างจากคำค้นที่เกี่ยวกับการ ตรวจหวย พบว่า มีการค้นหาจากทั่วทั้งประเทศ เมื่อพิจารณารายจังหวัด พบว่า อันดับ 1-5 ได้แก่ จังหวัด ลำพูน แพร่ อำนาจเจริญ อุทัยธานี และสุโขทัย และเมื่อพิจารณาในภาพใหญ่ระดับประเทศนั้น พบว่า คนไทยให้ความสนใจในประเด็น หวย หรือ สลากกินแบ่งรัฐบาล ตามผลการศึกษาเรื่อง “Trends and Tweets: ความสนใจ ความคิดเห็น และอารมณ์ในโลกออนไลน์ ในช่วงเดือนเมษายน พฤษภาคม และ มิถุนายน 2564” ของ Media Alert (2564)
หากพิจารณาลงลึกไปถึงที่มาที่ไปของคำค้นเหล่านี้ พบว่า เป้าหมายของคำค้นเหล่านี้สะท้อนปัญหาทางเศรษฐกิจ เหตุเพราะทั้งคำค้น “เราชนะ” “คนละครึ่ง” “ตรวจหวย” “หวย” ล้วนเกี่ยวข้องกับการเงิน ดังส่วนหนึ่งในบทวิเคราะห์ของ ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์สาขาวิชาการสอนสังคมศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในเวทีเสวนาเรื่อง “Trends and Tweets: ความสนใจ ความคิดเห็นและอารมณ์ในโลกออนไลน์” จัดเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2564
“……..ผมคิดว่าผลการนำเสนอการศึกษาครั้งนี้ สะท้อนสถานการณ์ทางสังคมที่คนสิ้นหวังท้อแท้มากขึ้น เช่น การสนใจเรื่องหวย เรื่องผลสลากกินแบ่ง เป็นความรู้สึกของชนชั้นกลางระดับล่างที่เจอกับความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจ ต้องการความหวังในการใช้ชีวิตและขยับสถานะทางเศรษฐกิจของตนเองให้ดีขึ้น แต่ไม่รู้จะทำอย่างไร…….”
สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ในช่วงปีที่ผ่านมาส่งผลกระทบต่อปัญหาทางเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก ส่วนหนึ่งจึงสะท้อนให้เห็นผ่านคำค้นในช่วงปีที่ผ่านมา ที่ทุกคนให้ความสนใจใน คำค้น “เราชนะ” “คนละครึ่ง” อันเป็นมาตรการที่รัฐบาลได้มอบเงินเยียวยาแก่ประชาชน ทั้งยังรวมไปถึงการ “เสี่ยงโชค” หรือ “สลากกินแบ่งรัฐบาล” ที่คนไทยให้ความสนใจอยู่เสมอ ทำให้ข้อมูลทั้ง 2 ส่วนนี้เป็นอันดับต้น ๆ จาก “คำค้น” ในช่วงปี 2564 ของประเทศไทย
ผลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมครัวเรือนในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2564 โดย สำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า รายได้เฉลี่ยต่อเดือนของครัวเรือนอยู่ที่ 28,454 บาท ขณะค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อเดือนของครัวเรือนคือ 22,325 บาท แสดงให้เห็นว่าแต่ละครัวเรือนจะเหลือเงินเก็บต่อครัวเรือนที่ 6,000 บาท แต่ทว่าครัวเรือนไทยมีหนี้สินเฉลี่ยที่ 208,733 บาท ข้อมูลเหล่านี้ แสดงชัดว่า ครัวเรือนไทยจำนวนมาก มีปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ จึงไม่น่าแปลกใจที่คำค้นในออนไลน์ที่เกี่ยวกับการเงิน จึงได้รับความสนใจสูงสุด
สื่อมวลชนประเทศไทย ก็เช่นกัน ต่างก็ให้ความสำคัญในเรื่อง “การเสี่ยงโชค” และ “การใบ้หวย” จากงานการศึกษาเรื่อง “ความเชื่อทางไสยศาสตร์ในรายการข่าวโทรทัศน์” ของ Media Alert (2564) พบว่า มีการนำเสนอข่าวทางโทรทัศน์เกี่ยวกับความเชื่อทางไสยศาสตร์ ในช่วง 2 สัปดาห์ มีการนำเสนอถึง 102 ข่าว และความยาวอยู่ที่ 218 นาที งานการศึกษานี้ยังชี้ให้เห็นว่า ส่วนใหญ่ของข่าวโทรทัศน์ที่ศึกษาได้นำเสนออย่างเชื่อมโยงความเชื่อทางไสยศาสตร์กับ หวย ตัวเลข และการเสี่ยงโชค
จากข้อมูลข้างต้น แสดงให้เห็นว่า สื่อมวลชนก็เป็นช่องทางสำคัญในการกระตุ้นให้คนสนใจใน ประเด็น “การเสี่ยงโชค” ผสมผสานไปกับ “ความเชื่อทางไสยศาสตร์” สาเหตุหนึ่งที่ทำให้มีการนำเสนอเช่นนี้ทางสื่อ อาจเป็นดังที่ ระวี ตะวันธรงค์ นายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ ได้กล่าวในงานเสวนาเรื่อง “Trends and Tweets: ความสนใจ ความคิดเห็นและอารมณ์ในโลกออนไลน์” เมื่อ 23 พ.ย. 64 ตอนหนึ่งว่า
องค์กรสื่อเองก็ต้องอยู่ได้ด้วยกลไกทางตลาด (ไม่ใช่ด้วยเงินบริจาค) จึงต้องผลิตเนื้อหาเพื่อนำเสนอให้คนสนใจ ซึ่งอาจมีผลต่อเรื่องจริยธรรมในการนำเสนอ ผมจึงอยากให้องค์กรรัฐสนับสนุนการผลิตเนื้อหาขององค์กรสื่อที่สะท้อนภาพของสังคมและช่วยกันพัฒนาสังคมได้
ในสภาวะความยากลำบากจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ โควิด 19 ที่สะท้อนผ่าน Google Trends ในช่วงปีที่ผ่านมานี้ แสดงให้เห็นว่า ประชาชนจำเป็นต้องพึ่งพาทั้งการเยียวยาและการช่วยเหลือจากรัฐบาล ทั้งยังรวมไปถึง การเสี่ยงโชคจากสลากกินแบ่งรัฐบาล ที่ผ่านมา การรายงานข่าวความเชื่อทางไสยศาสตร์ก็มีสัดส่วนมากขึ้น อันอาจเป็นการสร้าง การผลิตซ้ำ มาตรฐานการทำงาน หรือสูตรสำเร็จของการรายงานข่าว ที่ใช้วิธีเชื่อมโยงข่าวต่าง ๆ กับความเชื่อทางไสยศาสตร์ และโชคลาง เพื่อเรียกความสนใจจากผู้รับชม อันส่งผลต่อเรตติ้งรายการ แต่เป็นการลดทอนมาตรฐานเชิงคุณค่า ของรายการข่าวที่มีบทบาทกำหนดวาระทางสังคม ผู้ผลิตรายการข่าวจึงไม่ควรจัดกระทำให้ข่าวเชื่อมโยงกับความเชื่อทางไสยศาสตร์ อย่างมุ่งกระตุ้นความสนใจ ที่อาจเป็นการตอกย้ำ ผลิตซ้ำ หรือทำให้เป็นความเชื่อที่งมงายด้วยไร้เหตุผล ไม่สร้างประโยชน์ อาจทำให้ติด การเสี่ยงโชค (Media Alert, 2564)
สุดท้าย Google Trends ประจำปีอาจเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการค้นหาความสนใจในโลกออนไลน์ของประชาชนแค่ช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง และพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง ซึ่งไม่อาจสรุปความคิดหรือความรู้สึกของประชาชนทั่วประเทศไทยได้ทั้งหมด แต่ “คำค้น” เหล่านี้เป็นเสียงสะท้อนจากประชาชนที่แสดงให้เห็นถึงความสนใจที่ผูกโยงกับความต้องการทั้งด้านปัจจัย 4 ในการดำรงชีวิต การอุปโภคบริโภค ทัศนคติ และบริบทของสังคมในขณะนั้น แม้สื่อมวลชนจะมี “สิทธิ” ในการคัดเลือกนำเสนอข้อมูล หรือจัดวาระสำคัญของข่าวสารต่าง ๆ ตาม Rating หรือ Trending เพื่อตอบโจทย์ความสนใจของคน แต่ในขณะเดียวกัน “สื่อมวลชน” ก็มี “หน้าที่และความรับผิดชอบ” ในการนำเสนอข้อมูลที่ถูกต้อง มีสาระประโยชน์ ช่วยแก้ปัญหาในเชิงโครงสร้าง เพื่อยกระดับความคิด และคุณภาพชีวิตของประชาชน ด้วยเช่นกัน
ความเห็นล่าสุด