(17 สค. 64) กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ผนึกพลังทั้งภาควิชาการและสื่อมืออาชีพร่วมหาทางรอดให้สื่อไทย ในเวทีเสวนาวิชาการออนไลน์ ‘สื่อมวลชนไทยในกระแสความเปลี่ยนแปลง : บทบาทและความท้าทาย’
โดยพระไพศาล วิสาโล ได้รับเป็นองค์ปาฐกถาพิเศษ ‘อนาคตของสื่อมวลชนในกระแสของความเปลี่ยนแปลง’ ซึ่งในเวทีเสวนา มีนักวิชาการด้านนิเทศศาสตร์ สื่อสารมวลชน และสื่อมวลชน มืออาชีพ ร่วมระดมความคิดเห็นเป็นจำนวนมาก
ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวเปิดงาน โดยขอบคุณผู้เข้าร่วมเสวนาทุกคนที่มาร่วมระดมความเห็น พร้อมกล่าวว่า ท่ามกลางสถานการณ์ที่สื่อมวลชนต้องเผชิญกับวิกฤตรอบด้าน ทั้งกระแสเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี, Digital Disruption ที่โหมกระหน่ำกระทบการทำงานและธุรกิจสื่อโดยตรงในหลายมิติ
‘สถานการณ์ปัจจุบันที่เรากำลังเผชิญหน้ากับวิกฤติการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ สังคม รวมถึงการดำเนินชีวิตของประชาชนอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่ว่าโลกและสังคมจะเผชิญกับสถานการณ์ใด “สื่อมวลชน” ยังคงต้องเป็นผู้มีบทบาทสำคัญ ในการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร ดังนั้น การนำเสนอเนื้อหาที่มีจรรยาบรรณ ตามหลักวิชาชีพของสื่อมวลชน จะช่วยสร้างการรับรู้ ความเข้าใจ ให้สาธารณชน และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า เวทีเสวนาระดมความคิดเห็นนี้ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จะได้รับข้อมูลเพื่อวิเคราะห์ สถานการณ์ปัญหา และบทบาทสื่อมวลชนในปัจจุบัน เพื่อร่วมหาทางออก อุปสรรค ในการที่จะให้ประชาชนและสังคมส่วนรวม ได้ประโยชน์จากการเป็นผู้รับสารนั้น’ ดร.ธนกร กล่าว
พระไพศาล วิสาโล กล่าวว่า ภาพรวมของสื่อตอนนี้ กำลังมีความสับสน ไม่แน่ใจในบทบาทของตัวเองที่กำลังเดินอยู่ คือไม่รู้แน่ชัดว่าตัวเองกำลังไปทางไหน มันเป็นเส้นทางที่ถูกมั้ย ซึ่งก็ทำให้เกิดความลังเล ในสิ่งที่ทำอยู่ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเห็นใจ เพราะว่า ตอนนี้สิ่งที่เรียกว่า การปฏิวัติทางด้าน Visitor ส่งผลกระทบต่อสื่อเป็นอย่างมาก
‘ตอนนี้คนมีทางเลือก ในเรื่องสื่อเยอะมาก จะมองว่าสื่อมีคู่แข่งเยอะก็ได้ อาตมา เห็นว่าความคาดหวังของผู้คนต่อสื่อก็เปลี่ยนไป ก็จะไม่ได้คาดหวังการเผยแพร่ หรือเป็นสื่อกลาง ทำให้เค้าเห็นข้อเท็จจริง แต่ว่าต้องการให้สื่อมาสะท้อนหรือว่า ตอบสนองความคิดหรือความเห็นของตัวเอง ซึ่งก็ทำให้เกิดการเรียกร้อง คาดหวังให้สื่อเลือกข้าง เลือกข้างของตัวเอง มาอยู่ฝ่ายตัว สื่อซึ่งจากเดิมเป็น “Mass media” ไปสู่ “Social media” และกลายเป็น “Tribal media” หรือสื่อเพื่อพวกตัวเอง อาตมาคิดว่า สื่อต้องถอนตัวออกมาจากการเป็น Tribal Media คือ ต้องไม่เป็นสื่อที่มีอคติ หรือนำเสนอแต่เรื่องของพวกพ้องตนเอง แต่ต้องสะท้อนความจริงของสังคมอย่างรอบด้าน บทบาทเดิมที่สื่อเคยคิดว่ามันเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เช่น การนำเสนอข้อเท็จจริง ตอนนี้มันก็ถูกตั้งคำถาม บรรทัดฐานที่เคยมีก็ถูกสั่นคลอน อาตมาคิดว่าทำให้สื่อทำงานยาก ไหนจะต้องดิ้นรนต่อสู้เพื่อความอยู่รอด เม็ดเงินที่ช่วยหล่อเลี้ยงสื่อจาก บริษัทโฆษณามันก็กระจายไปกว้างขวาง อาตมาคิดว่า ตอนนี้สื่อต้องใช้เวลาในการปรับตัวมากทีเดียว ก่อนที่จะรู้ว่า ควรจะไปทางไหน อันนี้ก็คือ ความเห็นในภาพรวม’
พระไพศาล กล่าวว่า สื่อควรทำหน้าที่ 2 อย่าง คือเป็นกระจกสะท้อนความจริง อย่างซื่อตรง และเป็นเสมือนโคมไฟคือใช้ส่องสว่าง กระจกกับโคมไฟ มันก็ทำหน้าที่ต่างกัน ‘กระจกทำหน้าที่สะท้อนความจริง ซึ่งอาตมาคิดว่าอันนี้คือหน้าที่สำคัญของสื่อ คือเป็นสื่อกลางที่ทำให้คนเห็นความจริง ของปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้น ประเด็นว่า ส่องสว่างในที่นี้ก็หมายถึงว่า ทั้งในแง่ที่ว่าทำให้โลกรอบตัวสว่างขึ้น ทำให้คนได้เข้าใจโลกที่อยู่รอบตัว สังคมที่อยู่รอบตัว แล้วก็ส่องทางด้วยนะไม่ใช่แค่ส่องสว่างอย่างเดียว ก็คือว่านำเสนอทางออก หรือสิ่งที่ควรจะเป็น’ พระไพศาล กล่าว
ในกิจกรรมเสวนาวิชาการออนไลน์ ได้เปิดระดมความคิดเห็น ให้ผู้เข้าร่วมเสวนาครั้งนี้ได้ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นใน 3 ประเด็นหลัก ดังนี้
- บทบาทของสื่อมวลชนไทยในยุคปัจจุบัน
- ความท้าทายต่อสถานการณ์ต่าง ๆ ที่สื่อมวลชนต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงในทุกมิติ
- ร่วมกันนำเสนอแนวทางข้อชี้แนะ ในการปรับตัวของสื่อเพื่อให้สามารถอยู่รอดได้ในสถานการณ์ที่ท้าทายในปัจจุบัน
ในการระดมความคิดเห็นครั้งนี้ได้มีประเด็นที่สนใจมากมาย อาทิ บทบาทของสื่อมวลชนกับสื่อ ที่ทุกคนเป็นกันได้ ต้องแยกกันให้ชัดเจน โดยเฉพาะสื่อมวลชน ต้องยึดจรรยาบรรณ จริยธรรม และต้องคำนึงถึงความถูกต้องก่อนนำเสนอเนื้อหา
การทำ Quality Rating เป็นการสะท้อนความต้องการของผู้รับสื่ออย่างแท้จริง เพื่อต้องการให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาสื่อสร้างสรรค์ แต่ขณะเดียวกัน สื่อมวลชนในปัจจุบัน ต้องเผชิญกับความท้าทายในเรื่องของ “อุดมการณ์” และ “พาณิชยการ” เข้ามาเกี่ยวข้อง จึงทำให้เกิดช่องว่างในเรื่องของข้อเท็จจริง
ความเห็นล่าสุด