เลือกหน้า

“มีแต่คนบอกว่า เหลือคนเดียวแล้วนะ เหลือคนเดียวแล้วนะ จุดข้างหน้าถ้าเราท้อไปคนเดียว มังคละร่วง ไม่มีใครสานต่อ ถ้าเกิดผมตายไปใครจะอนุรักษ์”
.
น้ำเสียงที่มุ่งมั่นเด็ดเดี่ยว แต่เจือไว้ด้วยความรู้สึกเสียดายและให้ความรู้ที่โดดเดี่ยว ของครูประโยชน์ ลูกพลับ ช่างทำกลองมังคละ ที่พิษณุโลก ซึ่งเหลืออยู่เพียงคนเดียวของไทย เมื่อพูดถึงการทำกลองมังคละ กลองพื้นบ้านที่หลายคนแทบไม่เคยได้ยินชื่อและไม่เคยรู้จักมาก่อน
.
กลองมังคละ ในวงดนตรีพื้นบ้านเก่าแก่ ที่เคยปรากฎในภาพประวัติศาสตร์มานับร้อยปี โดดเด่นด้วยเสียงก้องกังวานของกลองมังคละ ซึ่งชื่อมีความหมายถึงความเป็นมงคล พร้อมเครื่องดนตรีอื่น ๆ รวมกันกลายเป็นวงดนตรีพื้นบ้านที่เคยแพร่หลายในพิษณุโลก อุตรดิตถ์ และสุโขทัย ผ่านกาลเวลาหลายยุคหลายสมัยมาถึงวันนี้ กลองมังคละกลายเป็นเครื่องดนตรีในตำนาน นั่นทำให้การทำกลองมังคละกลายเป็นมรดกทางดนตรี ที่กำลังจะสูญหายไปจากแผ่นดินไทย รวมทั้งเรื่องราวของช่างไทยอีกหลายแขนง ซึ่งยังคงสร้างสรรค์งานศิลป์บนแผ่นดินไทย แต่กำลังถูกท้าทายด้วยกาลเวลาและความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย จะสามารถอนุรักษ์งานเหล่านี้ให้ยังคงอยู่คู่แผ่นดินไทยต่อไปได้อย่างไร

นั่นเป็นจุดที่ อภิชัย หาญกล้า มือสารคดีท่องเที่ยวต่างประเทศ ที่มีประสบการณ์ผลิตสารคดีมานับสิบปี และประทับใจกับงานศิลป์ไทย เริ่มต้นค้นหาเรื่องราวช่างไทยหลากหลายแขนง ที่ต้องเผชิญบนความท้าทายเดียวกัน และถ่ายทอดผ่านสารคดีชุด “ช่างไทย สืบสานงานศิลป์แผ่นดินไทย” ทั้ง 7 ตอน ผ่านชีวิตช่างไทย 7 แขนง ทั้งช่างทำกลองมังคละ , ช่างทำหัวโขน , ช่างตีบาตร , ช่างทำเครื่องดนตรีไทย , ช่างทำหัวผีตาโขน , ช่างแกะหนังตะลุง , และช่างแกะสลักไม้ ซึ่งช่างแต่ละแขนงเต็มไปด้วยเรื่องราวชีวิตของการสร้างงานศิลป์บนแผ่นดินไทย ความภาคภูมิใจที่กำลังถูกท้าทายจากความสนใจที่ลดลงจนเสี่ยงต่อการสูญหาย
.
“เราพยายามเล่าถึงอาชีพช่างไทย ที่กำลังจะสูญหายไปและไม่มีคนสืบทอด เช่น กลองมังคละที่จังหวัดพิษณุโลก หลายคนฟังชื่ออาจจะยังไม่รู้จักด้วยซ้ำ ผมไปค้นพบมาว่าประเทศไทยตอนนี้เหลือคนทำกลองมังคละอยู่แค่คนเดียว ถ้าคนนี้เสียไปก็จบ นี่คือตัวอย่าง หรือหนังตะลุง ที่พัทลุง ดูเผินๆเหมือนมีคนทำเยอะ แต่ในความเป็นจริงแล้วคนที่เป็นอาจารย์และสืบทอดจริงๆมีอยู่น้อยมาก มีอยู่ 2 จังหวัดเท่านั้นในประเทศไทย”
.
อภิชัย เล่าถึงความตั้งใจที่อยากเล่าเรื่องราวเหล่านี้ผ่านสารคดีชุดนี้ หลังได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ในประภทเชิงยุทธศาสตร์ ประจำปี 2563 และใช้เวลาในการถ่ายทำสารคดีชุดนี้ถึง 1ปี กับ 6 เดือน

ด้วยประเด็นที่ท้าทายของงานช่างศิลป์ไทยที่กำลังต่อสู้กับความโดดเดี่ยว การสูญหายและไร้การสืบทอด โดดเด่นด้วยการเล่าเรื่องด้วยภาพที่แตกต่างจากสารคดีทั่วไป เน้นภาพโทนมืดที่สื่อถึงความอึดอัดและกดดัน แทรกด้วยการเล่าถึงชีวิตช่างไทยและความรู้ในการทำงานศิลป์แต่ละแขนงได้อย่างลงตัว
.
“จริง ๆ แล้ว ความยากคือเทคนิคการถ่ายทำ เพราะเราต้องการให้คนรู้สึกกดดัน ถ้าเข้าไปดูสารคดีที่ทำ จะเห็นว่าแสงรอบข้างแทบไม่สว่างเลย เราพยายามทำให้แสงรอบข้างมันหายไปให้มากที่สุด เช่นการถ่ายตัวระนาด ก็จะให้ทีมงานเอาผ้าดำไปคลุมระนาดทั้งตัวแล้วมุดเข้าไปถ่าย ส่วนใหญ่จะเป็นความท้าทายในเรื่องแบบนี้”

สารคดีช่างไทย ทั้ง 7 ตอน เผยแพร่ในช่องยูทูบและเฟซบุ๊ก “ช่างไทย สืบสานงานศิลป์แผ่นดินไทย รวมทั้งสถานีวิทยุโทรทัศน์เพื่อการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ หรือช่อง ETV ที่นำสารคดีเรื่องนี้ไปออกอากาศ เพื่อให้เยาวชนได้รับชมกันด้วย ซึ่งได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ และค่อย ๆ แสดงพลังแห่งการรับรู้ หลังได้ดูสารคดีชุดนี้ สารคดีที่อยากให้คนไทยทุกคนได้ดูงานศิลป์ที่หล่อหลอมความเป็นไทย สืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน ดูด้วยความภูมิใจ และส่งต่อพลังให้ช่างไทยที่กำลังสืบสานงานศิลป์บนแผ่นดินไทย ให้มีกำลังใจในการอนุรักษ์ต่อไป
.
#กองทุนสื่อ #ช่างไทยสืบสานงานศิลป์แผ่นดินไทย
#เล่าสื่อกันฟัง #บทความเล่าสื่อกันฟัง
#ผลงานผู้รับทุนกองทุนสื่อ
#สื่อสร้างสรรค์เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม
#กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
.
ติดตาม “กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์” ได้ที่
Website : www.thaimediafund.or.th
Facebook : กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
Youtube : www.youtube.com/c/ThaiMediaFund
Line Official : @thaimediafund