เรื่องราวของโรงเรียนเล็ก ๆ แห่งหนึ่งในชนบทอันห่างไกลของประเทศจีน ซึ่งมีนักเรียนอยู่ราว 30 คน และกำลังประสบปัญหา เมื่อคุณครูเกา ครูเพียงคนเดียวของหมู่บ้าน จำเป็นต้องลากลับบ้านเกิดเพราะแม่ป่วย ผู้ใหญ่บ้านจึงต้องออกตามหาครูจำเป็นมาสอนเด็ก ๆ แทนชั่วคราว จนได้พบกับเด็กหญิงอายุ 13 ปี ชื่อ “เว่ยหมิ่นจือ” ซึ่งไม่มีความรู้อะไรมากนัก นอกจากอ่านออกเขียนได้ แต่ตกลงรับงานนี้เพราะอยากได้ค่าจ้าง
.
โดยหน้าที่สำคัญที่คุณครูเกาสั่ง “เว่ยหมิ่นจือ” คือ เธอต้องดูแลนักเรียนไม่ให้หายไปแม้แต่คนเดียว หรือ Not One Less ซึ่งเป็นชื่อของภาพยนตร์ ของผู้กำกับชื่อดัง จางอี้โหมว ที่ใช้ชาวบ้านจริงๆ ที่ไม่ใช่นักแสดงมาเล่นในหนัง ท่ามกลางความสมจริงและเรียบง่าย แสดงให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำ ปัญหาความยากจน และโครงสร้างทางการศึกษาที่เป็นสากล จนเข้าถึงหัวใจคนดูทุกชาติทุกภาษา กระทั่งได้รับรางวัล “สิงโตทองคำ” จาก “เทศกาลหนังเวนิซ” ปี 1999
.
ผลงานระดับมาสเตอร์พีซของ จางอี้โหมว กลายเป็นส่วนหนึ่งของแรงบันดาลใจให้ อมรวัฒน์ พุทธเลิศศักดิ์ ผู้ควบคุมการสร้างภาพยนตร์เรื่อง “สบายดี หลวงพะบาง” อยากปั้นดินให้เป็นดาว สร้างภาพยนตร์ไทยโดยใช้ความธรรมชาติของผู้คนในท้องถิ่นมาเป็นนักแสดง แทนนักแสดงมืออาชีพ เพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่าคนไทยก็ทำได้ และอยากให้เด็กยุคนี้ ซึ่งส่วนใหญ่ใช้เวลาอยู่กับหน้าจอโทรศัพท์มือถือ ทั้งติดเกมและติดโซเชียลเกือบตลอดเวลา และกำลังกลายเป็นปัญหาใหญ่ของหลาย ๆ ครอบครัวในสังคมไทย ได้หันมาสนใจเล่นกับเพื่อนข้างบ้านบ้าง เหมือนเมื่อครั้งตอนที่เขาเคยเป็นเด็ก จึงนำไอเดียนี้ไปเสนอขอทุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กระทั่งได้รับทุนประเภทเปิดรับทั่วไป ประจำปี 2565 อนุมัติให้สร้างภาพยนตร์สั้นคบเด็กข้างบ้าน
“ผมก็อยากพิสูจน์ให้เห็นว่าเด็กอีสานบ้านเราก็เก่งและทำได้เหมือนกัน ซึ่งในเมืองไทย ยังไม่ค่อยมีใครเอาเด็กจากท้องถิ่นหรือจากในพื้นที่จริง ๆ ที่ไม่ใช่นักแสดงมาเล่นหนัง เพราะว่ามันยาก คอนโทรลยากทุกอย่าง โดยพ่อแม่ที่เอาลูกมาเล่นหนัง ต่างอยากให้ลูกหลานเล่นได้ ก็เคี่ยวเข็ญและตั้งใจกันมาก”
.
ภาพยนตร์สั้นคบเด็กข้างบ้าน ทั้ง 6 ตอน ถ่ายทอดผ่านพล็อตเรื่องที่สนุก ต้องใช้จินตนาการ โดยมีฉากแอคชั่นพาเด็กติดเกมจากยุคปัจจุบัน วาร์ปทะลุมิติเข้าไปในยุคอดีต ได้ไปสัมผัสและเล่นกับเด็กยุคโบราณจริง ๆ ผ่านการละเล่นโบราณของพื้นที่ภาคอีสาน ที่เด็ก ๆ ยุคนี้อาจยังไม่เคยได้รู้จัก ทั้ง “ตีคลีไฟ” ที่จังหวัดชัยภูมิ “อีเตย” จังหวัดเลย “ผีโผน” จังหวัดนครพนม “มะเญงญาง” จังหวัดมุกดาหาร “สะบ้า” จังหวัดยโสธร และ “จ้ำหมู่หมี่” จังหวัดหนองคาย ซึ่งในขั้นตอนการถ่ายทำหนัง อมรวัฒน์และทีมต้องใช้เวลาสร้างสรรค์เกือบ 1 ปีเต็ม กว่าที่ภาพยนตร์เรื่องนี้จะเสร็จสมบูรณ์สวยงามตามที่ตั้งใจไว้ แม้ว่าจะต้องเปลี่ยนทีมช่างภาพมาแล้วถึง 3 ทีมก็ตาม
.
“นักแสดงเด็กวัย 6-10 ปี เขายังซนอยู่ ไม่ค่อยมีสมาธิ อีกทั้งเราตั้งใจจะใช้นักแสดงที่เป็นเด็กในท้องถิ่น เพื่อให้ดูสมจริงที่สุด จึงต้องไปแคสติ้งหานักแสดงเด็กในพื้นที่จริง และหาคุณครูหรือชาวบ้านที่มีความรู้เกี่ยวกับการละเล่นโบราณมาฝึกให้พวกเขา จากนั้นอีก 3 เดือน ค่อยไปถ่ายจริง มันยากตรงที่ต้องทำงานกับเด็ก บางคนเล่นไม่ได้ บางคนร้องไห้กลับบ้าน ทั้งที่ยังถ่ายไม่เสร็จ เรื่องนี้จึงยากมากจริง ๆ เพราะเราไม่ได้ใช้เด็กที่เป็นนักแสดงอาชีพ และการลงพื้นที่ถ่ายทำในช่วงนั้น ก็เป็นช่วงฤดูฝนพอดี ก็ยิ่งทำให้ถ่ายทำลำบากมากขึ้นไปอีก”
แม้จะเหนื่อยยากเพียงใด แต่อุปสรรค์ที่มาพร้อมกับความท้าทาย ก็กลายมาเป็นความภูมิใจของ อมรวัฒน์ ที่ท้ายที่สุดแล้ว เขาก็สามารถปั้นให้เด็กอีสาน เด็กบ้าน ๆ มาเล่นหนังได้จริง ๆ
.
“ครั้งแรกที่เจอเด็ก ๆ เขาไม่ยอมเล่น ไม่ให้ความร่วมมือเลย แต่พอเราเข้าถึง เราสนิทกับเขาได้ ทำให้เขารู้สึกว่าเราเป็นเพื่อนกับเขา เขาก็แสดงให้เราได้อย่างราบรื่น มันเป็นความภูมิใจที่เราไม่ได้เลือกเอานักแสดงอาชีพมาเล่น เราเอาเด็กบ้าน ๆ เด็กที่ไม่เคยเห็นกล้องมาถ่าย ไม่รู้ว่าต้องทำสีหน้ายังไง หรือควรหันมุมไหนให้กล้อง พอมีบทมีสคริปให้พูด เขาก็ตั้งใจกลับไปท่อง บางคนจำได้แม่นเลย พอมาถึงก็พูดได้ชัดเจน”
.
หลังภาพยนตร์เรื่องนี้ออกอากาศ ก็ได้รับผลตอบรับค่อนข้างดี มีเสียงชื่นชมจากหลายภาคส่วน หลายโรงเรียนมาขอนำไปใช้เป็นสื่อการเรียนการสอน ส่วนหน่วยงานท้องถิ่นในหลายจังหวัด ก็ขอนำไปเผยแพร่ต่อ เพื่อประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวและวัฒนธรรมประเพณีของท้องถิ่น ใครที่ยังไม่เคยชม สามารถรับชมได้ทางแอปพลิเคชัน TPTV และช่องทีวีรัฐสภา ซึ่งมีรีรันทุกวันเสาร์ เวลา 08.20 น. ยาวไปจนถึงสิ้นปีนี้ หรือชมย้อนหลังได้ที่ยูทูบ Thai Media Fund กับภาพยนตร์สั้นคบเด็กข้างบ้าน ภาพยนตร์ที่มาพร้อมกับความภูมิใจของทีมงาน ความภูมิใจของเด็กบ้าน ๆ และกลายเป็นความภูมิใจของคนไทย ซึ่งท้ายที่สุดอาจจะกระตุ้นให้ลูกหลานหันมาคบเด็กข้างบ้านลดการเล่นเกมส์ลงบ้าง
.
#กองทุนสื่อ #คบเด็กข้างบ้าน
#เล่าสื่อกันฟัง #บทความเล่าสื่อกันฟัง
#ผลงานผู้รับทุนกองทุนสื่อ
#สื่อสร้างสรรค์เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม
#กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
.
ติดตาม “กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์” ได้ที่
Website : www.thaimediafund.or.th
Facebook : กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
Youtube : www.youtube.com/c/ThaiMediaFund
Line Official : @thaimediafund
ความเห็นล่าสุด