เลือกหน้า

“ส่วนตัวกลัวความสูง พอได้เล่น VR Acrophobia มันก็จะรู้สึกหวิว ๆ ด้วยความที่เราเห็นภาพรอบตัวที่เป็นมิติความสูงมาก ๆ เราก็จะตื่นเต้น เกิดการกระตุ้นเล็กน้อย แต่ก็ยังโอเคอยู่ มันเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยให้เราได้ประสบการณ์ ไปอยู่บนความสูงมาก ๆ ทั้งที่เราไม่ได้ไปสัมผัสด้วยตัวเองโดยตรง จริง ๆ มันก็แอบสนุก มันน่าจะช่วยให้คนกลัวความสูง ลดความกลัวลงได้” เชน อายุ 22 ปี นักศึกษา

“หลังจากได้เล่น VR Self-Talk มันเหมือนได้สร้างตัวเองขึ้นมาอีกคน เพื่อจะได้นั่งพูดคุยกันถึงปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น และให้คำแนะนำตัวเอง มันช่วยให้เราเข้าใจตัวเองมากยิ่งขึ้น ได้อยู่กับตัวเอง รู้ว่าตัวเองมีปัญหาอะไร และเรียนรู้ว่าเราควรจะให้คำแนะนำแก่ตัวเองอย่างไร เพื่อให้เราใช้ชีวิตได้อย่างมีสุขภาพจิตที่แข็งแรง” อาร์ม อายุ 21 ปี นักศึกษา

ความรู้สึกเหล่านี้เป็นรีแอคชั่นบางส่วนของเชนและอาร์ม วัยรุ่นที่มาร่วมเปิดประสบการณ์สู่การดูแลจิตใจผ่านโลกเมตาเวิร์ส ทดลองใช้โปรมแกรม VR Acrophobia สำหรับคนกลัวความสูง และ VR Self-Talk พูดคุยกับตัวเองในรูปแบบอวตาร เทคโนโลยีที่จะเข้ามาช่วยดูแลพวกเขาในอนาคต ซึ่งออกแบบและพัฒนาขึ้นโดย CARIVA – AI and Robotics และ ME HUG ก่อนนำมาจัดแสดงในนิทรรศการเมตาเวิร์สกับเมนทัลเฮลท์ ที่ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) แล้วได้รับความสนใจอย่างล้นหลาม สร้างความดีใจให้กับทีมงานผู้ผลิต ที่ได้เจอกับนวัตกรรมที่จะเข้ามาช่วยสื่อสารองค์ความรู้เรื่องสุขภาพจิตให้ดูเฟรนลี่และจูงใจให้คนเข้ามาเชื่อมโยงกับสิ่งนี้ได้ง่ายขึ้น

“ปกติเวลาเราทำงานในเชิงสุขภาพจิต ไม่ว่าคิดเงิน หรือฟรี หรือเคี่ยวเข็ญขนาดไหน ก็ไม่มีใครมาสนใจเลย ถูกเมินตลอด แต่พอเรานำความทันสมัยของเทคโนโลยีเข้ามาช่วย ปรากฏว่าช่วยดึงความสนใจให้คนเข้ามาหาเรา กลายเป็นว่าเราป๊อปปูล่าที่สุดเลยในบรรดาบูธทั้งหมดที่มีในงาน ซึ่งเราไม่เคยได้รับความสนใจแบบนี้มาก่อน มันช่วยทำให้มุมมองไบแอสของคน ที่มองงานด้านสุขภาพจิตว่าเป็นเรื่องไกลตัว เป็นเรื่องของคนบ้า คนสติไม่ดี ไม่สนใจและไม่เข้าใจเรา มันหายไปเลย สิ่งที่พลิกโฉมไปเลย คือ มีแต่คนวิ่งเข้ามาหาเรา อุ๊ยแว่นวีอาร์ อยากลองเล่น ลองใช้ ทั้งเด็กทั้งผู้ใหญ่เข้ามารอคิวต่อแถวกันยาวมาก แถมยังมีหน่วยงาน องค์กร และสถาบันการศึกษา ติดต่อให้ไปออกบูธความรู้เรื่องนี้เกือบทุกเดือน”

ดร.กัณฐรัตน์ เหลืองอ่อน CEO – ME HUG และนักจิตวิทยา เล่าไปยิ้มไปกับความภูมิใจที่ได้เห็นฟีดแบคที่ดีมาก ทั้งจากในแวดวงนักจิตวิทยา ที่ชื่นชมและอยากให้นำเทคโนโลยีนี้เข้าไปช่วยรักษาคนไข้ในโรงพยาบาล ได้เครือข่ายผู้เชี่ยวชาญที่ตื่นตัวและเข้ามาร่วมศึกษาเป็นจำนวนมาก ส่วนกลุ่มประชาชนทั่วไปก็สนใจอยากให้มีการจัดนิทรรศการแบบนี้อีกเรื่อย ๆ หลายคนก็อยากให้มาช่วยฝึกทักษะความมั่นใจ การเข้าสังคมให้กับพวกเขาด้วย

นอกจากเทคโนโลยี VR แล้ว ในโครงการเมตาเวิร์ส กับ สุขภาพจิต ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ประเภทเชิงยุทธศาสตร์ ประจำปี 2565 ก็ยังมีการสร้างนิทรรศการเสมือนจริงไว้ในโลกเมตาเวิร์ส ที่เว็บไซต์ spatial จัดแสดงองค์ความรู้เกี่ยวกับงานวิจัยที่รีวิวมาจากต่างประเทศ ในการนำเทคโนโลยีเมตาเวิร์สมาใช้ดูแลสุขภาพจิตในแต่ละด้าน ว่าให้ผลลัพธ์เป็นอย่างไร อีกทั้งยังมีการจัดเสวนาแลกเปลี่ยนความรู้จากผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับความก้าวหน้าของเมตาเวิร์สกับเมนทัลเฮลท์อีกด้วย โดยองค์ความรู้ทั้งหมด ได้ถูกบันทึกและถ่ายทอดออกมาเป็นสื่ออินโฟกราฟฟิก บทความ และคลิปวิดีโอ ให้ผู้สนใจได้หาชมย้อนหลังกันได้ที่เพจเฟซบุ๊กและยูทูบ ME HUG ซึ่งในขั้นตอนนี้ถือว่าเป็นประเด็นท้าทายทีมผู้ผลิตอย่างมาก ต้องใช้เวลา 6-7 เดือน

“เป็นอุปสรรคใหญ่ที่สุดของทีมเรา ซึ่งถนัดเรื่องงานวิจัยและการฝึกอบรม แต่ไม่ได้ถนัดเรื่องการผลิตสื่อตอนขอทุน ซึ่งเป็นการขอครั้งแรก เราไม่รู้ว่าสามารถขอเฉพาะในส่วนของงานวิจัยและการฝึกอบรมได้ ก็เลยเสนอเรื่องการผลิตสื่อเข้าไปด้วย ซึ่งเราไม่มีความรู้เลยว่า จะมีต้นทุนและขั้นตอนการผลิตมากขนาดนี้ โดยเฉพาะสื่อวิดีโอที่เกินกำลังของเรา แถมเสนอไปตั้ง 18 ตอน ตอนละ 15 นาที ซึ่งไม่รู้ว่ามันเยอะมาก ทั้งเรื่องโปรดักชันและค่าเช่าอุปกรณ์ อีกทั้งคลิปสัมภาษณ์ความยาว 15 นาที มันก็ยาวเกินไปที่จะทำออกมาให้ดูน่าสนใจ ถ้าไม่ได้มีภาพหรือกราฟฟิกมาเสริม สุดท้ายก็ต้องหาผู้เชี่ยวชาญเข้ามาช่วยผลิต”

ดร.กัณฐรัตน์ เน้นย้ำทิ้งท้ายว่า แม้จะเป็นเรื่องยาก แต่ทีมงานผู้ผลิตกว่า 20 คน ก็ภูมิใจที่โครงการนี้ได้ ทำให้เรื่องของสุขภาพจิตดูเป็นมิตรมากขึ้น ช่วยเผยแพร่องค์ความรู้และสร้างความตระหนักรู้ในเรื่องเมทัลเฮลท์ เพื่อให้สังคมเห็นว่าสุขภาพจิตเป็นเรื่องที่อยู่ในชีวิตประจำวัน ไม่จำเป็นต้องป่วย ก็เข้ามาศึกษาและดูแลได้ จึงอยากชวนทุกคนมาดู มั่นใจว่าต้องมีหนึ่งในหลายตอนที่เกี่ยวข้องและเป็นประโยชน์กับคุณแน่นอน