เลือกหน้า

10.. 64 กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยมหิดล และหน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงศึกษาธิการ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รวมทั้งหน่วยงานภาคประชาสังคม ได้แก่ สภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย และมูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันในโลกดิจิทัล Digital Resilience และพัฒนาทักษะการรับมือของเยาวชนไทยกับความไม่ปลอดภัยบนโลกออนไลน์ โดยผ่านความร่วมมือแบบบูรณาการของภาคีเครือข่ายทั้ง 9 หน่วยงาน ในการขับเคลื่อนภารกิจในครั้งนี้

ดร.ยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า ในยุคปัจจุบันสื่อดิจิทัลมีบทบาทสำคัญต่อวิถีชีวิตของคนในสังคม สำหรับกระทรวงวัฒนธรรมภารกิจในการเฝ้าระวังที่ส่งผล กระทบต่อวัฒนธรรมและวิถีชีวิตอันดีงามของคนไทย การสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเด็กและเยาวชน โดยในส่วนการดำเนินงานด้าน Digital Resilience ในเชิงลุกได้รวมกับหน่วยงานต่าง ๆ การผลิตสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ซึ่งดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างคุณธรรมและจริยธรรมให้แก่ผู้ผลิตสื่อ สำหรับการดำเนินงานในเชิงรับ มีในเรื่องของการเฝ้าระวังเนื้อหาของสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ และมีการเปิดสายด่วนวัฒนธรรม 1765 สำหรับรับเรื่องร้องเรียนโดยเป็นหน่วยงานกลางในการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ

ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวว่า ในเรื่องของ Cyberbullying รวมไปถึง Fake news และ Hate speech กองทุนฯ มีการดำเนินการหรือมาตรการที่จะยับยั้งเรื่องดังกล่าวให้ได้มากที่สุด และได้ส่งเสริมการผลิตสื่อที่ดีควบคู่กันไปด้วย และให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าว โดยในปี 2562 มีการสนับสนุนทุนประเภทเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic grant) ในประเด็นการกลั่นแกล้งในโลกออนไลน์ Cyberbullying และการใช้ประทุษวาจาในสื่อออนไลน์ Hate speech ที่สร้างความแตกแยกและเกลียดชังต่อคนในสังคม มีโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจำนวน 15 โครงการ และดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปี 2563 ทางกองทุนฯ ได้สนับสนุนการดำเนินงานแก้ไขปัญหา Cyberbullying อีกจำนวน 5 โครงการ

ส่วนในปี 2564 กองทุนฯ ยังคงสนับสนุนงบประมาณให้แก่โครงการหรือกิจกรรมในประเด็นโทษและความเสี่ยงของสื่อออนไลน์ มีทั้งสิ้น จำนวน 7 โครงการ ถือได้ว่าเป็นการต่อยอดการขับเคลื่อนงานด้านการแก้ไขปัญหา Cyberbullying รวมไปถึงการสร้าง Digital Resilience ให้เกิดขึ้นในกลุ่มเป้าหมายของกองทุนฯ ซึ่งภารกิจดังกล่าวไม่สามารถทำให้สำเร็จลุล่วงได้ในหน่วยงานเดียว จึงจำเป็นจะต้องอาศัยความร่วมมือและการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายที่มีความรู้ ความสามารถ อันเป็นนิมิตรหมายอันดีที่ทั้ง 9 หน่วยงานมาจัดทำความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว

ศาสตราจารย์ นายแพทย์วชิร คชการ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและวิชาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า มหาวิทยาลัยมหิดลได้เล็งเห็นถึงปัญหาความไม่ปลอดภัยบนโลกออนไลน์ รวมไปถึงเรื่อง Cyberbullying ในกลุ่มของเด็กและเยาวชน โดยได้ดำเนินการวิจัยเรื่องดังกล่าวมาเป็นระยะเวลานาน เพื่อชี้นำปัญหารวมถึงการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ทางสังคมที่ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันในโลกดิจิทัล และสร้างเครื่องมือในการประเมินเพื่อยกระดับสู่ภูมิภาค และนานาชาติต่อไป

รองศาสตราจารย์ ดร. สสิธร เทพตระการพร คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า บทบาทของมหาวิทยาลัยในเรื่องของการลด Cyberbullying โดยให้ความสำคัญในเรื่องของการล่วงละเมิดบนโลกออนไลน์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน โดยเฉพาะประเด็นที่กระทบต่อสุขภาวะของวัยรุ่น มุ่งมั่นป้องกัน แก้ไข เยียวยาสุขภาพของวัยรุ่นที่ใช้ชีวิตบนโลกออนไลน์เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งการดำเนินการทำความร่วมมือเรื่องดังกล่าวเพื่อนำเรื่อง Cyberbullying และเรื่อง Digital Resilience เป็นแรงขับเคลื่อนเพื่อให้อาจารย์ และนักวิจัยของมหาวิทยาลัย รวมไปถึงนักศึกษาทุกระดับในคณะสาธารณสุขศาสตร์ ได้นำเอาแนวคิดเรื่องดังกล่าวไปบูรณาการในงานสร้างเสริมสุขภาพ ของวัยรุ่นบนโลกออนไลน์

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ระวี จันทร์ส่อง คณบดีคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า คณะมนุษยศาสตร์ในฐานะองค์กรที่เฝ้าติดตามและศึกษาความเป็นไปของมนุษย์ในโลกดิจิทัล และให้คำปรึกษาทางด้านจิตวิทยา โดยให้ความสำคัญในประเด็นเรื่อง Digital Resilience ซึ่งการทำความร่วมมือดังกล่าวเป็นนิมิตรหมายอันดีเพื่อเสริมสร้าง Digital Resilience สำหรับเยาวชนต่อไป

ดร. ศรีดา ตันทะอธิพานิช กรรมการผู้จัดการ มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย กล่าวว่า ปัญหาในเรื่อง Cyberbullying เป็นปัญหาใหญ่สำหรับเด็กและเยาวชน ซึ่งปัจจุบันมีเครื่องมือที่ช่วยป้องกันได้มากขึ้น มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทยในฐานะหน่วยงานที่ดำเนินการในเรื่องดังกล่าว ต้องช่วยดำเนินการเยียวยา คุ้มครอง เด็กและเยาวชนหากเกิดปัญหาจำเป็นต้องร่วมกับหน่วยงานที่เป็นภาคีเครือข่ายเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น โดยมีความยินดีในการทำความร่วมมือกับหน่วยงานอื่น ๆ ทั้ง 9 หน่วยงาน เพื่อนำเครื่องมือใช้สร้างภูมิคุ้มกันให้กับเด็กและเยาวชนต่อไป

นายบุรินทร์ เรือนแก้ว รองประธานสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ประเด็นเรื่อง Digital Online สภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทยได้ให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าว ซึ่งปัจจุบันเด็กและเยาวชนสามารถเข้าถึงสื่อออนไลน์ได้มากขึ้น สภาเด็กและเยาวชนฯ จึงต้องหาวิธีการในการขับเคลื่อนการสร้างภูมิคุ้มกันในโลกออนไลน์ให้กับเด็กและเยาวชน โดยมุ่งเน้นในมิติเรื่องการส่งเสริม สนับสนุน และสร้างสรรค์ ในเรื่องดังกล่าว

เนื่องจากภารกิจหลักของกองทุนในการขจัดสื่อร้าย ขยายสื่อดี และสร้างสื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ภายใต้ระบบนิเวศสื่อที่ดี ในอนาคตข้างหน้าต่อไป จำเป็นจะต้องอาศัยความร่วมมือและการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายที่มีความรู้ ความสามารถ โดยมหาวิทยาลัยมหิดล ที่เป็นผู้ได้รับการสนับสนุนทุนที่ดำเนินการในเรื่องนี้ กำลังดำเนินการโครงการวัคซีนรับมือปัญหา: การศึกษาภูมิคุ้มกันในโลกดิจิทัล Digital Resilience และ Cyberbullying ของกลุ่มนักเรียนมัธยมศึกษาใน 5 ภูมิภาคของประเทศไทย อันเป็นที่มาของการลงนามใน MOU ความร่วมมือด้านการส่งเสริมและพัฒนาทักษะ Digital Resilience อย่างรอบด้านสำหรับเยาวชนไทยในครั้งนี้ โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้

1) ส่งเสริมให้เกิดความตระหนักถึงความไม่ปลอดภัยบนโลกออนไลน์ให้กับเยาวขน ครูและผู้ปกครอง

2) ส่งเสริมให้เกิดความรู้และความเข้าใจในเรื่อง Digital Resilience ผ่านสื่อสร้างสรรค์

3) พัฒนาเครื่องมือประเมิน Digital Resilience สำหรับเยาวชน

4) ส่งเสริมให้เยาวชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาสื่อสร้างสรรค์ในประเด็น Digital Resilience

5) พัฒนาเครือข่ายและแนวทางความร่วมมือแบบบูรณาการในการร่วมกันส่งเสริมทักษะ Digital Resilience

6) พัฒนาช่องทางรูปแบบการให้ความช่วยเหลือสำหรับเยาวชนที่ประสบปัญหาความไม่ปลอดภัยบนโลกออนไลน์

บันทึกข้อตกลงฉบับนี้ จะเป็นหมุดหมายสำคัญของความร่วมมือระหว่างกองทุนสื่อ และภาคีเครือข่าย
ที่จะร่วมกันขับเคลื่อนงานด้านการแก้ไขปัญหา Cyberbullying รวมไปถึงการสร้างภูมิคุ้มกันในโลกดิจิทัล หรือ Digital Resilience ให้มีนิเวศสื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์สืบต่อไป