(5 กรกฎาคม 2566) คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดแถลงข่าวโครงการลูกทุ่งสร้างสรรค์ผสานสมัย พลังศิลปวัฒนธรรมไทยสู่สากล
ซึ่งเป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ประจำปี 2566
โดยมุ่งหมายให้เป็นกิจกรรมใหญ่เพื่อเฉลิมฉลองวาระสำคัญของวงการเพลงลูกทุ่งไทย ครบรอบ 84 ปี ต่อยอดผสมผสานเรียนรู้จากอดีตที่ผ่านมาเพื่อมุ่งสู่การเป็นเวิลด์มิวสิคระดับโลก ยกระดับอำนาจอ่อนของไทยสู่สากล
ณ ห้องประชุม ดร.เทียม โชควัฒนา คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นางสาวฐิต์ณัฐ สมบัติศิริ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรมในฐานะหน่วยงานภาครัฐ มีหน้าที่ส่งเสริมและผลักดันนโยบาย soft power ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนประเด็นการสร้างมูลค่าจากประเด็นเชิงวัฒนธรรม
โครงการลูกทุ่งสร้างสรรค์ผสานสมัย พลังศิลปวัฒนธรรมไทยสู่สากล นับเป็นอีกหนึ่งโครงการสำคัญ ที่เราอยากจะสนับสนุนให้ไปถึงผู้คนทุกกลุ่มวัย เพราะเป็นโครงการที่มีประโยชน์ และยังขับเคลื่อนคุณค่า วัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ไทย ให้ไปสู่ระดับสากล
ทางกระทรวงวัฒนธรรม ขอเป็นส่วนหนึ่งในการขยายเครือข่ายเยาวชนคนรุ่นใหม่และประชาชนทั่วไปในการเข้าถึง รู้จัก อนุรักษ์ และสร้างสรรค์ต่อยอดอุตสาหกรรมลูกทุ่งไทย
ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวว่า ตลอดการดำเนินงาน 8 ปีที่ผ่านมา กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ได้ให้การสนับสนุนโครงการอย่างมากมาย
ทั้งในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสังคม เด็กและเยาวชน ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน รวมถึงประเด็นการสร้างมูลค่าจากประเด็นเชิงวัฒนธรรม (Soft Power)
โครงการลูกทุ่งสร้างสรรค์ผสานสมัย พลังศิลปวัฒนธรรมไทยสู่สากล โดย คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็เป็นหนึ่งในโครงการรับทุน ประเภทเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Grant) ในประเด็นการสร้างมูลค่าจากประเด็นเชิงวัฒนธรรม (Soft Power)
ทางกองทุนได้เล็งเห็นว่าโครงการนี้จะพัฒนา ช่วยส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชน และก่อให้เกิดความตระหนักถึงการสืบสานวัฒนธรรมผ่านบทเพลงลูกทุ่ง ซึ่งถือว่าเป็นเพลงที่สะท้อนวิถีชีวิต สภาพสังคม อุดมคติและวัฒนธรรมไทย
“ท่วงทำนอง คำร้อง สำเนียง ลีลาการร้อง การบรรเลงเพลง ที่เป็นแบบแผน มีลักษณะเฉพาะ โดยเฉพาะการร้องเอื้อนที่ใช้ลูกคอ เพื่อสร้างสรรค์การแสดงคอนเสิร์ตเพลงลูกทุ่ง ที่สะท้อนคุณค่าอำนาจอ่อนและขับเคลื่อนคุณค่าวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ไทย และขยายเครือข่ายให้เยาวชนคนรุ่นใหม่และประชาชนทั่วไปในการเข้าถึง รู้จัก อนุรักษ์และสร้างสรรค์ต่อยอดอุตสาหกรรมลูกทุ่งไทย”
สำหรับโครงการลูกทุ่งสร้างสรรค์ผสานสมัย พลังศิลปวัฒนธรรมไทยสู่สากล ประกอบด้วย 5 กิจกรรมสำคัญ คือ
1. การจัดเสวนาลูกทุ่งไทย 4 ภาค
2. การจัดการประกวดหางเครื่อง
3. การผลิตสารคดีสั้นลูกทุ่งไทย
4. การจัดทำหนังสือ 84 ปี ลูกทุ่งไทย
5. การจัดแสดงคอนเสิร์ต 84 ปี ลูกทุ่งไทย
ในส่วนของกิจกรรมการประกวดหางเครื่อง จะรับสมัครน้อง ๆ นักเรียนนักศึกษามาร่วมสร้างทีมส่งเข้าประกวด โดยจะจัดควบคู่ไปกับการเสวนาย่อยที่จะมุ่งถอดบทเรียนและจัดการองค์ความรู้ที่ได้รับจากศิลปินลูกทุ่งของแต่ละภาค
ส่วนหนังสือนั้นจะเปิดโอกาสให้ผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดเพื่อหาความรู้ได้อย่างไม่จำกัด
โดยคอนเสิร์ต 84 ปี ลูกทุ่งไทยจะจัดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 14 มกราคม 2567 ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย
รศ.ดร. ปรีดา อัครจันทโชติ คณบดี คณะนิเทศศาสตร์ กล่าวว่า ขอขอบคุณกระทรวงวัฒนธรรมและกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ที่ได้สนับสนุนการจัดงานครั้งนี้
ที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของเพลงลูกทุ่ง ที่สามารถผลักดันและต่อยอดให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม และอยากให้โครงการนี้ประสบความสำเร็จ เป็นที่รู้จักและมีประโยชน์ต่อประชาชนทุกเพศทุกวัย
โดยโครงการนี้ จะมีการเก็บบันทึกรวบรวมข้อมูลจากปากของครูเพลง นักร้องทุกๆ ท่านที่มีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์ เพื่อนำมาเป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยนวตกรรมด้านวัฒนธรรมที่ต่อยอดเพลงลุกทุ่งไทยก้าวสู่วงการดนตรีในระดับสากล เป็นอำนาจอ่อนของประเทศไทยที่มีพลังและสร้างรายได้ทางเศรษฐกิจให้ประเทศได้เป็นมูลค่ามหาศาล
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุกัญญา สมไพบูลย์ รองคณบดีและหัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า คณะนิเทศศาสตร์ มีการเตรียมความพร้อมในการดำเนินโครงการมาเป็นเวลากว่า 1 ปีแล้ว
“ภารกิจที่สำคัญทางด้านการศึกษาและวิจัยเป็นภารกิจที่คณะนิเทศศาสตร์ให้ความสำคัญมาตลอด ซึ่งโครงการนี้จะเป็นการรวบรวมข้อมูลเชิงลึกในทุกองค์ประกอบของการสร้างสรรค์เพลงลูกทุ่ง ไม่ว่าจะเป็นครูเพลง นักร้อง หางเครื่อง ห้องบันทึกเสียง ผู้จัดจำหน่าย และอีกหลาย ๆ ภาคส่วนที่ประกอบสร้างเป็นเพลงลูกทุ่งไทยที่คนไทยชื่นชอบ ขอเชิญชวนให้แฟนเพลงลูกทุ่งทุกคนมาร่วมกันให้กำลังใจนักร้องลูกทุ่ง ครูเพลงลูกทุ่ง จำนวนกว่า 60 ท่าน
ที่จะมาร่วมงานแสดง”
ความเห็นล่าสุด