เลือกหน้า

ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฏร รับทราบรายงานกองทุนสื่อปี 65

สส. อภิปรายตั้งข้อสังเกตเสนอแนะ พร้อมชี้ว่าใน พ.ร.บ. มีตัวแทนรัฐบาลมากไปทำให้ขาดอิสระ
โดยขอให้กองทุนสื่อ เร่งรณรงค์ให้ประชาชนรู้เท่าทันสื่อ และสื่อปลอม

(10 ส.ค. 66) สภาผู้แทนราษฎรพิจารณารายงานประจำปี 2565 ของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

โดย ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ชี้แจงว่ากองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ได้จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เมื่อปี 2558

โดยในพระราชบัญญัติ ซึ่งรัฐบาลในขณะนั้นได้เล็งเห็นว่าสื่อ ในปัจจุบันโดยเฉพาะสื่อสำหรับเด็กและเยาวชน
ไม่ตอบสนองต่อสถานการณ์ ซึ่งหากจะให้ภาคเอกชนดำเนินงานพบว่าไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน นับตั้งแต่ปี 2561 จนถึงปี 2565 เป็นการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ในระยะที่ 1 ภายใต้แผนงาน 4 ด้าน เช่น แผนงานส่งเสริมและสนับสนุนทำให้สื่อดีๆเกิดขึ้น ให้เกิดการพัฒนาศักยภาพของผู้ผลิตสื่อ สำหรับยุทธศาสตร์ที่ 2 คือ การสนับสนุนองค์ความรู้วิจัยและพัฒนา สื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ยุทธศาสตร์ที่ 3 เป็นเรื่องของการรณรงค์ ส่งเสริมและสนับสนุน ทักษะการรู้เท่าทันสื่อ รวมถึงสร้างความตระหนักรู้ให้ประชาชน มีส่วนร่วมในการเฝ้าระวังสื่อที่ไม่ปลอดภัยยุทธศาสตร์ที่ 4 เป็นเรื่องของการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม และยุทธศาสตร์ที่ 5 เป็นเรื่องของการพัฒนาองค์กร

ดร.ธนกร ยังกล่าวถึงการดำเนินงานของกองทุนสื่อที่ผ่านมาว่าได้ดำเนินงานผ่าน 2 รูปแบบคือ 1 การให้ทุนสนับสนุน หรือการจัดสรรทุน โดยกันงบในส่วนนี้ไว้ 60 % หรือ 300 ล้านบาท

ในส่วนรายงานประจำปีของกองทุนสื่อ ได้รับความสนใจจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในการอภิปรายอย่างกว้างขวาง อาทินายศรัณย์ ทิมสุวรรณ สส. จังหวัดเลย พรรคเพื่อไทย อภิปราย ขอให้กองทุนสื่อเดินหน้าเข้าถึงประชาชนให้มากที่สุด เช่น การรณรงค์ให้ประชาชนรู้เท่าทันสื่อ และ ข่าวปลอม ซึ่งในรายงานประจำปีไม่ปรากฏให้เห็นแต่เรื่องนี้

นายเอกราช อุดมอำนวย สส. กทม. พรรคก้าวไกล ได้อภิปรายเกี่ยวขอบเขตของสื่อปลอดภัยและสร้างตามนิยามปัจจุบันว่าดูกว้างเกินไป อยากเสนอให้มีจุดโฟกัส และต้องการให้มีเครื่องมือในการสำรวจการรับรู้ของประชาชนที่ชัดเจน พร้อมทั้งเสนอแนะให้กองทุนมี Application หรือ Platform กลางในการเผยแพร่ผลงาน

ส่วนนางสาวรักชนก ศรีนอก สส. กทม. พรรคก้าวไกล ได้อภิปรายตั้งข้อสังเกตต่อคณะกรรมการกองทุนตามมาตรา 14 ว่ามีตัวแทนรัฐบาลและภาครัฐมากเกินไป ทำให้กองทุนขาดความเป็นอิสระ และต้องทำงานตามที่รัฐบาลต้องการ

นอกจากนี้ได้รับทราบจากผู้รับทุนว่าการทำงานของกองทุนค่อนข้างยาก มีเงื่อนไขมาก และโครงการที่มีวงเงินสูงบางโครงการยังไม่พบการเผยแพร่

ด้านนายธัญธร ธนินวัฒนาธร สส. กทม. พรรคก้าวไกล ได้ตั้งข้อสังเกตถึงความหลากหลายของโครงการกองทุนสื่อว่ายังขาดความหลากหลายของหัวข้อที่สามารถเข้าถึงมวลชน

กองทุนอาจพิจารณาสนับ สนุนด้านภาพยนตร์ หรือละครโทรทัศน์ และประชาสัมพันธ์โครงการเพื่อขอรับทุนสนับสนุนไม่กว้างพอ นอกจากนั้นคณะกรรมการภายในกองทุน ควรเพิ่มความหลากหลาย เช่น เพิ่มผู้ทรงคุณวุฒิที่มาจากมหาวิทยาลัย เป็นต้น

โดย สส.ส่วนใหญ่ ต่างอภิปรายว่าต้องการเห็นกองทุนสื่อฯ ทำงานร่วมกับอินฟลูเอนเซอร์ เพื่อดึงกลุ่มประชาชน
มาติดตามผลงานของกองทุนสื่อ และ เพื่อเป็นการเพิ่มผู้ติดตามและมีผู้ชมเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ ดร.ธนกร ได้กล่าวขอบคุณ สมาชิกที่อภิปรายตั้งข้อสังเกตและแนะนำ โดยจะสรุปเพื่อเสนอฝ่ายนโยบาย รวมถึงปรับปรุงตัวพระราชบัญญัติที่เปิดช่องให้แก้ไขได้
ต่อไป