(12 กค.66) กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ร่วมกับคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ และศูนย์การค้าเอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ จัดงานแถลงข่าวการประกวดหางเครื่องระดับอุดมศึกษา
ณ Meeting Point ชั้น G ศูนย์การค้าเอ็ม บี เค เซ็นเตอร์
การประกวดหางเครื่องระดับอุดมศึกษา เป็น 1 ในกิจกรรมโครงการ “ลูกทุ่งสร้างสรรค์ผสานสมัย พลังศิลปวัฒนธรรมไทยสู่สากล”
โครงการที่ได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ประเภทเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Grant)ประเด็นการสร้างมูลค่าจากประเด็นเชิงวัฒนธรรม (Soft Power) ประจำปี 2566
รศ.ดร.ปรีดา อัครจันทโชติ คณบดี คณะนิเทศศาสตร์ กล่าวว่า โครงการ “ลูกทุ่งสร้างสรรค์ผสานสมัย พลังศิลปวัฒนธรรมไทยสู่สากล” เป็นโครงการที่ต้องการอนุรักษ์ ต่อยอด พัฒนาองค์ความรู้ลูกทุ่งไทย วัฒนธรรมบันเทิง เป็น soft power ที่ทรงพลังของสังคมไทยนับแต่อดีตถึงปัจจุบัน
การจัดโครงการในครั้งนี้จะเป็นการฟื้นฟูและสร้างสรรค์ และวิเคราะห์ถึงสุนทรียะของเพลงลูกทุ่งที่เป็นสื่อบันเทิงระดับท้องถิ่น ระดับชาติ ที่เติบโตแนบเนื่องไปกับสังคมและวัฒนธรรม
โดยมุ่งหมายเพื่อสร้างเครือข่ายเยาวชนรุ่นใหม่และประชาชนทั่วไปในการเข้าถึง รู้จัก อนุรักษ์ และสร้างสรรค์ต่อยอดการเต้นหางเครื่อง เพื่อเฉลิมฉลองวาระสำคัญของวงการเพลงลูกทุ่งไทย ครบรอบ 84 ปี ยกระดับลูกทุ่งไทยเป็นซอฟต์พาวเวอร์ด้านศิลปวัฒนธรรมที่สำคัญสู่อนาคต ทั้งในประเทศไทยและระดับโลก
นายวีระพงษ์ กังวานนวกุล ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและขับเคลื่อนสังคม กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวว่า โครงการนี้มีประชาชนให้ความสนใจเป็นอย่างมาก สิ่งที่กองทุนฯตระหนัก คือเรื่องการพัฒนาสื่อให้ปลอดภัยและสร้างสรรค์ นอกจากเรื่องสื่อแล้ว โครงการนี้ยังสนับสนุน สร้างการมีส่วนร่วม เป็นโอกาสพลิกฟื้นคืนความสุขให้กับสังคมไทย และยังช่วยเสริมสร้างวัฒนธรรมไทยให้ออกสู่สากล
คุณศตกมล วรกุล ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท อินเทลลิเจ้นท์ ครีเอทีฟ แอนด์ มาร์เก็ตติ้ง จำกัด กล่าวว่า เอ็ม บี เค เราสนับสนุนการสืบสานวัฒนธรรมไทย ให้ออกสู่สากล เรายินดีที่ให้การสนับสนุนในการใช้สถานที่ เพราะอยากให้เด็กรุ่นใหม่ และ ชาวต่างชาติได้เห็น
นับเป็น1ในหน้าที่ของเอ็มบีเค ที่จะผลักดันให้วัฒนธรรมออกสู่สังคม และต้องขอขอบคุณกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ที่เห็นความสำคัญของเพลงลูกทุ่งไทย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุกัญญา สมไพบูลย์ หัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า กิจกรรมประกวดหางเครื่องดังกล่าว จะรับสมัครน้อง ๆ นักเรียนนักศึกษามาร่วมสร้างทีมส่งเข้าประกวด โดยจะจัดควบคู่ไปกับการเสวนาย่อยที่จะมุ่งถอดบทเรียนและจัดการองค์ความรู้ที่ได้รับจากศิลปินลูกทุ่งของแต่ละภาค
นอกจากนั้น ยังได้จัดเสวนาหัวข้อ “จากหางเครื่องเปลี่ยนผ่านสู่แดนเซอร์.” โดยครูนพพร พิกุลสวัสดิ์ (ครูสอนหางเครื่องและรีวิวประกอบเพลงวงดนตรีสายัณห์ สัญญา-ศรชัย เมฆวิเชียร ยุคเฟื่องฟู) , อ๊อด โฟร์เอส (เจ้าของคณะหางเครื่องก่อนมาเป็นเจ้าพ่อรำวงชาวบ้าน)
คุณปิ๋ม ซีโฟร์ (นักออกแบบท่าเต้น -Choreographer ผู้คิดท่าเต้นเพลงลูกทุ่งยอดนิยมยุคใหม่ที่เราคุ้นหู) และ คุณแหวด อรอนงค์ นครสวรรค์ (น้องสาวคุณฮาย อาภาพร) แดนเซอร์มืออาชีพ อีกหนึ่งไฮไลต์ คือ การแสดงโชว์หางเครื่อง-แดนเซอร์ โดยได้รับเกียรติจากหางเครื่องรุ่นเก๋าจากวงดนตรีครูสุรพล สมบัติเจริญ อาทิ แดงต้อย-อุษา แก้วนิยม, เนตรแก้ว แววสุดา และ อุไรวรรณ บัวเนียม
ปิดท้ายด้วย การแสดงยุคแดนเซอร์ โชว์เพลงที่มีท่าเต้นประกอบเป็นเอกลักษณ์เพลงรุ่นใหม่ อาทิ รักจริงให้ติงนัง , เลิกแล้วค่ะ, โบว์แดงแสลงใจ, คุณลำไย, แต่งงานกันเถอะ, หมากัด, เด็กดอยใจดี ฯลฯ ที่ออกแบบโดย ครู ปิ๋มซีโฟร์ สาธิตโดย คุณ แหวด อรอนงค์ นครสวรรค์
สำหรับกติกาการสมัครและแข่งขันใน 4 ภูมิภาค ติดตามรายละเอียด ทาง
https://www.facebook.com/commartschulaofficial
ความเห็นล่าสุด