เลือกหน้า

เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2566 กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จัดเวทีสัมมนาถอดบทเรียน “Media Quality Rating จากงานวิจัยสู่การยกระดับคุณภาพสื่อไทย โดยมี ดร.ชำนาญ งามมณีอุดม รองผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เป็นประธานเปิดการสัมมนาฯ ณ โรงแรมบลิสตัน สุวรรณ พาร์ค วิว โฮเทล แอนด์ เรซิเด้นท์

การสัมมนา ครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ สร้างองค์ความรู้ในการจัดระดับความนิยมของผู้ชม หรือที่เรียกกันว่า
“เรตติ้ง” เป็นระบบการวัดเกี่ยวกับสื่อที่ใช้และเป็นที่ยอมรับกันแพร่หลายมานานในหลายประเทศ ซึ่งเป็นการวัดการเปิดรับสื่อของผู้ชมผู้ฟังในเชิงปริมาณ หรือการวัดความนิยมของเนื้อหา (content popularity) แต่อาจสะท้อนคุณลักษณะอันเป็นคุณภาพของเนื้อหาไม่ได้ (content quality)
ดังนั้น ระบบในการประเมินคุณภาพหรือกำหนดระดับคุณภาพของสื่อที่นำเสนอเนื้อหาต่อสาธารณะจึงมีความสำคัญ ควรได้รับการพัฒนาและนำมาปรับใช้ในอุตสาหกรรมสื่อ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ได้เล็งเห็นความสำคัญและได้สนับสนุนการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาระบบการวัดคุณภาพของสื่อที่นำเสนอต่อสังคม (Quality Rating) โดยให้คณะวิจัยดำเนินการมาตั้งแต่ พ.ศ.2563 และได้ต่อยอดการศึกษาเมื่อ พ.ศ.2565 จนถึงปัจจุบัน ภายใต้ “โครงการวิจัยการพัฒนาต่อยอดและการสร้างเครือข่ายการมีส่วนร่วมในระบบการวัดคุณภาพของสื่อที่นำเสนอต่อสังคม โดยหวังว่า Media Quality Rating จะเป็นทางเลือกในการวัดคุณภาพของสื่อมวลชนต่าง ๆ รวมถึงเป็นแรงจูงใจในการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ต่อไป

สำหรับการจัดสัมมนาดังกล่าว มีทีมวิจัยจากภาคมหาวิทยาลัย เข้าร่วมเสนอผลการศึกษาโครงการวิจัยการพัฒนาต่อยอดและการสร้างเครือข่ายการมีส่วนร่วมในระบบการวัดคุณภาพของสื่อที่นเสนอต่อสังคม นำโดย ผศ.ดร.ชนัญสรา อรนพ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการหลักสูตรปริญญาโท คณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ผศ.ดร.ศศิธร ยุวโกศล รองผู้อำนวยการ ศูนย์บริการวิชาการ วิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และ ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว ผู้อำนวยการคณะทำงานจัดการองค์ความรู้และสื่อสารสาธารณะและอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

โดยการนำเสนอผลการศึกษาโครงการวิจัย ดังกล่าว เป็นการวิจัยแบบผสมผสาน ตามกระบวนการ 2 ขั้นตอน ประกอบด้วย

ขั้นตอนที่ 1 การตรวจสอบและปรับปรุงองค์ประกอบ ตัวชี้วัดและเครื่องมือ แบ่งเป็นกลุ่มย่อย 4 กลุ่ม มีรูปแบบสนทนากับกลุ่มผู้รู้แจ้งชัด (known group) ได้แก่ กลุ่ม 1 ผู้เชี่ยวชาญ 8 คน กลุ่ม 2 ผู้บริโภคสื่อ 9 คน กลุ่ม 3 ผู้ผลิตสื่อ 7 คน และ กลุ่ม 4 ผู้มีหน้าที่กำกับและส่งเสริมคุณภาพสื่อ 4 คน
โดยจะนำผลที่ได้มาทำการวิเคราะห์และนำผลมาปรับปรุงองค์ประกอบ ตัวชี้วัดและเครื่องมือ (แบบสอบถาม) ก่อนนำไปประเมินคุณภาพรายการโดยผู้ชม ต่อไป

ขั้นตอนที่ 2 การประเมินคุณภาพรายการโดยมีการสำรวจแบบต่อเนื่อง 2 ครั้ง (panel survey) ร่วมกับการสนทนากลุ่มในกลุ่มผู้ชม

นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมการถอดบทเรียนและสังเคราะห์ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย และการเปิดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกันจากผู้เข้าร่วมสัมมนา อาทิ กลุ่มผู้ผลิตสื่อ (รายการข่าว, รายการเพื่อเด็ก เยาวชนและครอบครัว) กลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนได้ส่วนเสียผู้บริโภคสื่อ และ กลุ่มประชาชนที่มีส่วนร่วมประเมินคุณภาพรายการในโครงการวิจัย 

ทางด้าน นายอดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ กรรมการสมาคมโทรทัศน์ดิจิทัล กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท เนชั่น
บรอดแคสติ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า Media Quality Rating เป็นโครงการริเริ่มที่ดี แต่ยังขาดการมีส่วนร่วมจากองค์กรวิชาชีพ และเอเจนซี่ ส่วนการนิยามของเรทติ้งเชิงคุณภาพ ควรมีการแยกระหว่างเนื้อหากับพิธีกร เนื่องจากพิธีกรมีความหลากหลายการทำเนื้อหาให้ครอบคลุมครบถ้วน จึงสำคัญมากกว่า อีกทั้งควรเชื่อมโยงการทำงานร่วมกับ กสทช. เพื่อให้เกิดเป็นระบบ มีความต่อเนื่อง นำไปใช้ประโยชน์ทั้งเชิงเศรษฐกิจและสังคมได้จริง ในขณะที่ประชาชนสามารถประเมินแบบเรียลไทม์ได้ด้วย
อย่างไรก็ตาม ผู้เข้าร่วมสัมมนา กลุ่มอื่น ๆ ยังมีการนำเสนอประเด็นที่สรุปจากการถอดบทเรียน, ผู้เข้าร่วมงานร่วมกันแลกเปลี่ยนประเด็น ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ที่จะผลักดันให้เกิดระบบการกำหนดระดับคุณภาพของสื่อที่นำเสนอต่อสังคมในประเทศไทยให้เกิดขึ้นได้จริง มีความสอดคล้องตามความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย