เมื่อวันที่ 25 ส.ค. 66 กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จัดเสวนาวิชาการ ในหัวข้อ “โอกาสและความท้าทายของกองทุนสื่อ ภายใต้รัฐบาลใหม่”
โดยมีนักวิชาการ นักวิชาชีพ ด้านสื่อสารมวลชน และคณะกรรมการประเมินผลการดำเนินงานของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์เข้าร่วม
ณ โรงแรม Away Bangkok Riverside Kene กทม.
ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวว่า การดำเนินงานของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์กำลังจะก้าวเข้าสู่ปีที่ 9
จากการประเมินผลการทำงานของคณะกรรมการประเมินผลฯ
ที่ผ่านมา กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ มีผลลัพธ์การดำเนินงานเป็นที่น่าพอใจตามวัตถุประสงค์ที่มุ่งสนับสนุน ให้เกิดการสร้างสื่อที่ปลอดภัยสำหรับกลุ่มเยาวชนและครอบครัว
การมุ่งสนับสนุนสื่อที่มีคุณค่าในเชิงวัฒนธรรมที่เป็นการผลักดันในเกิดชอฟท์พาวเวอร์ ซึ่งเป็นปัจจัย สำคัญที่ส่งผลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ความท้าทายหลากหลายเรื่องในการขับเคลื่อนให้ถึงความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่กองทุนตั้งเป้าหมายไว้
‘ยกตัวอย่างเมื่อเราทำเป้าหมายเชิงสังคมได้แล้ว เราจะสามารถทำเป้าหมายเชิงเศรษฐกิจได้หรือไม่ ในเรื่องของการสร้างสื่อที่มาจากต้นทุนทางวัฒนธรรม ความเป็นไทย จากสิ่งที่เป็นวิถีชีวิต ภูมิปัญญา
เรื่องเล่าประวัติศาสตร์ เราจะแปลงสิ่งที่มีคุณค่านี้ไปสู่มูลค่าทางเศรษฐกิจได้หรือไม่
กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ยังให้ความสำคัญกับการเติบโตของสังคมดิจิทัล เพราะสื่อดิจิทัลในปัจจุบันมีอิทธิพลต่อการเรียนรู้และใช้งานของผู้คนในสังคมเพิ่มขึ้น
ยุคที่กระแสของโลกเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ทำให้ผู้คนใช้เวลาอยู่กับสื่อต่าง ๆ และเข้าถึงสื่อได้อย่างรวดเร็ว เราจะเตรียมพร้อมรับมือและปรับใช้สื่อดิจิทัลในชีวิตประจำวันที่มีคุณอนันต์และโทษมหันต์ได้อย่างไรนับเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนผ่านรัฐบาล และความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ล้วนทำให้การดำเนินงานของกองทุนสื่อในปัจจุบันและอนาคตเกิดความท้าทายเป็นอย่างมาก’
นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ กล่าวว่า หวังว่ารัฐบาลใหม่ ,รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมคนใหม่ ในฐานะรองประธานกรรมการกองทุนจะแอคทีฟมากขึ้น
เมื่อฝ่ายการเมืองแอคทีฟ ฝ่ายกองทุนเองก็ต้องแอคทีฟตามไปด้วย เมื่อตอนที่กองทุนสื่อ ได้เข้าไปนำเสนอรายงานประจำปีต่อสภาผู้แทนราษฏร ก็มีข้อสังเกตที่น่าสนใจ มีหลายส่วนที่ต้องนำมาคิดและปรับวิธีการทำงานของกองทุนสื่อ รวมถึงการขยายขอบเขตภารกิจของกองทุนสื่อ เน้นสร้างการมีส่วนร่วม เพื่อทำเรื่องทุนสนับสนุนเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic grant)
ให้ทั่วถึงประชาชน รวมถึงปัญหาใหญ่เรื่องงบประมาณของกองทุนสื่อ ที่มาจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.)
ซึ่งงบประมาณปี 2566 กว่าที่ กทปส. จะอนุมัติงบประมาณมาที่กองทุนสื่อ ก็ล่าช้ามาถึงไตรมาส 3 ต้องรอดูนโยบายของรัฐมนตรีคนใหม่ว่าจะมีเจตจำนงทางการเมืองต่อเรื่องนี้อย่างไร
การเสนอแก้กฏหมาย งบประมาณต้องชัดเจน เพื่อให้แก้ไขข้อจำกัดเหล่านี้ ให้ตรงและสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งกองทุนสื่อ
ขณะที่ด้านนายอดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ ที่ปรึกษาพิเศษ บริษัท เนชั่น กรุ๊ป (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กองทุนสื่อถูกตั้งมาให้เป็นองค์กรอิสระ ไม่ขึ้นกับการเมือง ไม่ขึ้นกับกระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง ตามเจตนารมณ์แรกของการขับเคลื่อนให้เกิดกองทุน
ช่วงที่ผ่านมาบทบาทของกองทุนสื่อก็มีมากในบริบทของสื่อไทย
ในขณะเดียวกันฝ่ายการเมืองก็ถือว่ากองทุนสื่ออยู่ภายใต้กระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งโดยเจตนารมย์ไม่ใช่ ถ้าการส่งเสริมสื่อไม่ได้อยู่ในบรรยากาศที่เป็นอิสระพอ ก็จะไม่ได้สื่อที่มีความสร้างสรรค์พอ ถ้าฝ่ายการเมือง รัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรม มีแรงผลักดันมากกว่านี้จะช่วยได้มาก กฏหมายจะไม่เป็นอุปสรรค และสื่อมันมีความหมายที่กว้าง การจะส่งเสริมเรื่อง ซอฟท์พาวเวอร์ ก็ต้องใช้สื่อ ดังนั้นก็จะไปเกี่ยวพันธ์กับหลายกระทรวง เช่น กระทรวงการท่องเที่ยวฯ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง และอยากเห็นบทบาทของกองทุนสื่อในรัฐบาลชุดใหม่ที่มีนโยบาย 1 ครอบครัว 1 ซอฟท์พาวเวอร์ ดีไซน์หลักสูตร ดีไซน์คอสเรียน เพื่อสร้างคนที่ผลิตคอนเท้นต์ใหม่ ๆ จะเป็นการยกระดับของกองทุนสื่อ
ด้าน รศ.พิจิตรา ศุภสวัสดิ์กุล อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า รัฐบาลใหม่น่าจะมีนโยบายเชิงรุก ในประเด็น Soft Power ส่งออกเชิงวัฒนธรรมผ่านสื่อ มีแนวโน้มว่าน่าจะมีการบูรณาการการทำงานกันมากขึ้น ในเชิงของการใช้วัฒนธรรม การใช้สื่อและการสร้างเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์เพื่อหาเงินเข้าประเทศ
ซึ่งกองทุนสื่อเป็นเครื่องมือที่ช่วยผลักดันให้เกิดชอฟท์พาวเวอร์ โดยปรับตำแหน่ง ในการส่งเสริมด้านสื่อ ว่าควรจะยืนในทิศทางใด เพราะปัจจุบันมีหลายองค์กรที่ช่วยกันผลักดันในเรื่องนี้ เพื่อเป็นการบูรณาการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
รวมถึงการกำหนดบทบาทภายใต้ระบบนิเวศสื่อที่มีการเปลี่ยนแปลง การสร้างแพลตฟอร์มต่างๆ ให้เข้ากับยุคสมัย กองทุนสื่อควรจะเป็นเครื่องมือในการผลักดันเรื่องนี้ เพราะสถาบันการศึกษามีขั้นตอนที่ค่อนข้างเยอะ ทำให้ไม่สามารถปรับเปลี่ยนได้ทันท่วงที
นางปริศนา พงษ์ทัดศิริกุล ประธานกรรมการประเมินผลการดำเนินงานของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และคณะ ต่างให้ความเห็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยระบุว่า การทำคอนเทนต์เป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งยังต้องพัฒนาอีกมาก
‘การพัฒนาคอนเท้นต์ ครีเอเตอร์เป็นเรื่องสำคัญ ที่เกาหลีมีกองทุน ที่ทำเรื่องการพัฒนาบุคลากรโดยเฉพาะ รัฐบาลเกาหลีให้อิสระกับองค์กร ผลิตบุคลากรในวงการสื่อได้ทุกแขนงได้อย่างดีน่าชื่นชม
การทบทวนแก้ไข พรบ. กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์มีความจำเป็นอย่างยิ่ง ความท้าทายและโอกาสของกองทุนสื่อจะมีอย่างมหาศาล’
รับชมงานเสวนา “โอกาสและความท้าทายของกองทุนสื่อ ภายใต้รัฐบาลใหม่”ย้อนหลัง ได้ที่ https://fb.watch/mEtFiTutaZ/?mibextid=cr9u03
ความเห็นล่าสุด