เลือกหน้า

(26 ก.ย. 66) กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จัดติวเข้ม “Content Creator Empowerment เตรียมความพร้อมนักสร้างสื่อ” สำหรับผู้ที่สนใจยื่นรับทุนสนับสนุนประจำปี 2567

ณ โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพ และผ่านระบบออนไลน์

ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวว่า กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ได้ดำเนินการจัดสรรทุนเพื่อรณรงค์ส่งเสริมการพัฒนาสื่อ นับตั้งแต่ปี 2560 จนถึงปัจจุบัน โดยได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี เป้าหมายและความตั้งใจของกองทุนคือเราต้องการผู้รับทุนที่มีความคิดสร้างสรรค์ แตกต่างอย่างหลากหลาย ประชาชนเข้าถึง เข้าใจ และ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง

 โดยในปี 2567 กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ได้กำหนดหลักเกณฑ์การจัดสรรทุน โดยแบ่งประเภทของทุนออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่

 ทุนประเภทเปิดรับทั่วไป วงเงิน 80 ล้านบาท

เป็นทุนในการสร้างพื้นที่เปิดโอกาสสำหรับประชาชนทุกกลุ่ม ซึ่งเปิดกว้างในการผลิตเนื้อหา รวมถึงรูปแบบในการนำเสนอให้เป็นไปตามความคิดสร้างสรรค์ของผู้ขอทุน  ซึ่งเป็นทุนสำหรับผู้ผลิตหน้าใหม่ ที่สร้างโอกาสให้กับผู้คนทุกภูมิภาค โดยมีกลุ่มเป้าหมาย 4 กลุ่ม ได้แก่

  • กลุ่มเด็กและเยาวชน
  • กลุ่มผู้สูงอายุ
  • กลุ่มคนพิการและผู้ด้อยโอกาส
  • กลุ่มประชาชนทั่วไป

ทุนประเภทยุทธศาสตร์ วงเงิน 180 ล้านบาท

เป็นทุนที่ต้องการให้ผลงานสร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับสังคม ที่ทางกองทุนให้ความสำคัญและต้องการให้เกิดขึ้น โดยกำหนดประเด็นเนื้อหาการผลิตที่มีเป้าหมายสำคัญ 6 ประเด็นด้วยกัน คือ

1.พหุวัฒนธรรมและความหลากหลายทางสังคม

2.ทักษะการรู้เท่าทันและเฝ้าระวังสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ รวมถึงการรับมือกับข้อมูลบิดเบือน ประทุษวาจา และการระรานในโลกออนไลน์

3.การสร้างมูลค่าจากประเด็นเชิงวัฒนธรรม (Soft Power) อยากให้มองในเรื่องของการใช้นวัตกรรมสื่อ เพื่อสร้างการรับรู้ในต่างประเทศ และระดับโลก

4.ผลิตรายการโทรทัศน์สำหรับเด็กและเยาวชน

5.ผลิตละครชุดเพื่อส่งเสริมศีลธรรม จริยธรรม วัฒนธรรม และความมั่นคง

6.ผลิตภาพยนตร์เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีความสามัคคี และสามารถใช้ชีวิตในสังคมที่มีความหลากหลายได้อย่างเป็นสุข

 ทุนประเภทความร่วมมือ 40 ล้านบาท ที่ต้องการให้ภาคีเครือข่ายเข้ามาสร้างสรรค์ผลงานร่วมกับกองทุน

 ทั้งนี้ ‘สื่อสร้างสรรค์เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม’ ที่กองทุนตั้งใจดำเนินการขยายผล โดยเป้าหมายสำคัญของการให้ทุนคือการสร้างสรรค์และสนับสนุนให้เกิดสื่อดีมีคุณภาพ ช่วยส่งเสริมให้ประชาชนมีความสามัคคี ใช้ชีวิตในสังคมที่มีความหลากหลายอย่างเป็นสุข และขจัดสื่อร้ายที่สร้างความเกลียดชัง ไม่ปลอดภัย ไม่สร้างสรรค์ให้น้อยลง พร้อมทั้งค้นหาผู้ผลิตสื่อที่มีความสามารถและศักยภาพเพื่อสร้างสรรค์นิเวศสื่อที่ดีให้กับสังคม

 “ฝากถึงผู้ยื่นขอรับทุนประจำปี 2567 ในการยื่นขอรับทุน ให้มีการเตรียมความพร้อมและหลีกเลี่ยงการยื่นในช่วง 5 วันสุดท้าย เพื่อป้องกันความผิดพลาดจากระบบ และหวังว่าจะได้ร่วมกันสร้างสรรค์ผลงานดีๆออกสู่สังคมร่วมกับทุกคน”

ดร.ชำนาญ งามมณีอุดม รองผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

กล่าวถึงไทม์ไลน์ และ กระบวนการและหลักเกณฑ์การพิจารณา ข้อเสนอโครงการหรือกิจกรรม ว่าจะเปิดระบบในเดือนตุลาคม ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 66 ซึ่งเป็นวันแรกของการเปิดรับข้อเสนอโครงการหรือกิจกรรมประจำปี 2567 โดยสามารถยื่นสมัครได้ผ่าน www.thaimediafund.or.th ตั้งแต่เวลา 8.30 น. ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2566 เวลา 16.30 น.

 ภายในเดือนตุลาคมนี้ จะมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการกลั่นกรองฯ คณะทำงานพิจารณาและพัฒนาข้อเสนอโครงการฯ จากผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ นักวิชาชีพ ที่มีประสบการณ์การทำงานที่ตอบโจทย์แก่กองทุน

 เดือนพฤศจิกายน สำนักงานตรวจสอบเอกสารหลักฐานเบื้องต้น และจัดทำข้อมูลสรุป

เดือนธันวาคม 66 – กุมภาพันธ์ 67 พิจารณาข้อเสนอโครงการ โดยมีคณะทำงานพิจารณาและพัฒนาข้อเสนอโครงการฯ พิจารณากลั่นกรองโครงการเบื้องต้น

 ต่อมาจะมีคณะอนุกรรมการกลั่นกรองฯ พิจารณากลั่นกรองโครงการและสุดท้ายคณะอนุกรรมการบริหารฯ พิจารณาอนุมัติโครงการ

เดือนมีนาคม 67 คณะกรรมการกองทุนฯ รับทราบผลการอนุมัติโครงการ และทำการประกาศผลการพิจารณาอนุมัติโครงการหรือกิจกรรมฯ ประจำปี 2567 และทำสัญญาภายในเดือนนี้

 ประเด็นหลักเกณฑ์การพิจารณาและคัดเลือกโครงการเพื่อรับทุนสนับสนุน ประจำปี 2567 โดยมีทั้งสิ้น 5 ข้อ ได้แก่

1.ความสอดคล้องกับโจทย์และภารกิจของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จะต้องสอดคล้องกับ วัตถุประสงค์ในการก่อตั้งกองทุน ตามมาตรา 5 ของ พระราชบัญญัติกองทุน พัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ พ.ศ. 2558

มีการแจกแจงขอบเขตงาน พร้อมรายละเอียด และวิธีการดำเนินงาน โดยมี วิธีการดำเนินงานที่สอดคล้องตามข้อกำหนดขอบเขตของงาน มีการจำแนกตัวชี้วัดที่เหมาะสม โดยให้ ความสำคัญจากการแสดงถึงรายละเอียดที่ชัดเจน สามารถดำเนินการได้จริงจำแนกเป็นขั้นตอน ครอบคลุมทุก กิจกรรม

2.คุณภาพของข้อเสนอโครงการ

คุณภาพของข้อเสนอโครงการ,แผนการดำเนินงาน และการบริหารจัดการโครงการ รวมถึงความสำคัญและความน่าสนใจ โดยจะต้องมีกิจกรรมที่ออกแบบได้น่าสนใจ มีความหลากหลายในวิธีการดำเนินการ มีความแตกต่าง โดดเด่นจากโครงการอื่น สามารถสร้างผลกระทบ (Impact) ได้ในวงกว้าง

  1. ผลกระทบเชิงบวกที่คาดว่าจะได้รับ ว่าโครงการดังกล่าวสามารถก่อให้เกิดผลกระทบเชิงบวกได้ในระดับต่าง ๆ ได้อย่างไร

    –ผลกระทบเชิงบวกระดับที่ 1 : สามารถเห็นผลกระทบเชิงบวกกับกลุ่มเป้าหมายที่กำหนดไว้ได้ในทันที ตั้งแต่ช่วงระหว่างการดำเนินโครงการ

   –ผลกระทบเชิงบวกระดับที่ 2 : สามารถเห็นผลกระทบเชิงบวกที่อาจต่อเนื่องถึง 1 ปีหลังจากส่งมอบผลงาน และสามารถนำผลงานไปต่อยอดเพื่อขยายผลกระทบเชิงบวกในวงกว้างขึ้นกว่ากลุ่มเป้าหมายที่กำหนดไว้

   –ผลกระทบเชิงบวกระดับ 3 : สามารถเห็นผลกระทบเชิงบวกที่มีความต่อเนื่องมากกว่า 1 ปีหลังจากส่ง มอบผลงาน และสามารถนำผลงานไปต่อยอดเพื่อขยายผลกระทบเชิงบวกในระดับประเทศหรือระดับนานาชาติ

  1. ความเหมาะสมของงบประมาณที่ขอสนับสนุน

   –มีลักษณะและจำนวนของกลุ่มเป้าหมายที่กำหนด ทั้งขอบเขตการดำเนินงาน/กิจกรรม ให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ที่กำหนด รวมถึงขนาดของพื้นที่ในการดำเนินการ และ ความคุ้มค่าของงบประมาณเมื่อเปรียบเทียบกับผลผลิตที่ได้รับ

5.ความน่าเชื่อถือของผู้ขอรับการสนับสนุนและความเป็นไปได้ของโครงการ

   –ประวัติ และจำนวนของบุคลากรของผู้ขอรับการสนับสนุนทุนตรงกับขอบเขตของงานที่กำหนดไว้ใน ข้อเสนอโครงการ

   –ผลงานที่ผ่านมาของผู้ขอรับการสนับสนุนทุนมีความสอดคล้องกับขอบเขตของงานที่กำหนดไว้ในข้อเสนอโครงการ

 

นางสาว พัชรพร พงษ์ทัดศิริกุล ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมการรู้เท่าทันและเฝ้าระวังสื่อ

ร่วมตอบคำถามในประเด็น “เขียนโครงการแบบไหน อย่างไร  ให้เข้าตากรรมการ”โดยแนะนำถึงหลักในการเขียนโครงการขอทุนกับกองทุนสื่อ ว่าควรสรุปรายละเอียดของทั้งโครงการให้กระชับ เข้าใจ และครบถ้วน ตอบโจทย์กับวัตถุประสงค์ของกองทุน มีความคิดสร้างสรรค์ มีความน่าเชื่อถือ และมีความเป็นไปได้

โดยยึดหลัก 5 W 1 H =Who-What-When-Where-Why + How เขียนให้สอดคล้องกับโจทย์ของผู้ให้ทุน คำนึงถึงความคุ้มค่า ค่าเหมาะสมกับงบประมาณ เพราะมีการแข่งขันที่นับว่าค่อนข้างสูง เราต้องเขียนให้ชัดเจน ตอบโจทย์ ครบประเด็น ดึงจุดเด่นของผลงาน ให้คณะกรรมเห็นชัดเจน

ร้อยโท ดร. ธนกฤษฏ์ เอกโยคยะ  ข้อควรระวังเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญหา 

กล่าวว่า การที่เราได้ทุนไปสร้างหนัง ภาพยนตร์ สร้างผลงาน นับเป็นโอกาสที่ดีที่เราได้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ ขอให้ผู้รับทุนทุกท่านใช้ความคิดสร้างสรรค์ของตนเองให้ได้มากที่สุด ในการสร้างสื่อไม่ว่าจะเป็นประเภทใดก็ตาม

ทรัพย์สินทางปัญญา คืองานสร้างสรรค์ประเภทต่างๆ โดยผลงานของกองทุนเองเรามีผลงานสร้างสรรค์ที่หลากหลายทั้ง ละคร ซีรี่ส์ ภาพยนตร์ ทางด้านกฎหมายจะจัดอยู่ในงานที่ได้รับการคุ้มครองภายใต้กฎหมายลิขสิทธิ์ 

 ในส่วนของข้อควรระวังในข้อกฎหมาย สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ กฎหมายลิขสิทธิ์จะให้ความคุ้มครองงานที่เราสร้างสรรค์ขึ้นมาเอง ไม่ลอกเลียนแบบ ไม่ดัดแปลง และในปัจจุบันทางกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เรามีฝ่ายเพิ่มมูลค่า ที่จะช่วยต่อยอดจากผลงานให้เกิดรายได้  ดังนั้นการทำงานจะต้องมีการตกลงร่วมกันที่ชัดเจน ทั้งด้านลิขสิทธิ์ และด้านธุรกิจ

 

ทั้งนี้กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ได้เปิดรับข้อเสนอตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม – วันที่ 31 ตุลาคม 2566 ภายในเวลา 16.30 น.

 ผู้สนใจสามารถยื่นข้อเสนอโครงการหรือกิจกรรมได้ทางเว็บไซต์กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ www.thaimediafund.or.th

 และติดตามข้อมูลข่าวสารทางเฟซบุ๊กแฟนเพจ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
โทรศัพท์ 02-273-0116-9