(27 มีนาคม 2567) กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ร่วมกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) มูลนิธิฟรีดริช เนามัน ประเทศไทย ,Tiktok Thailand, บริษัท เทลสกอร์ จำกัด ,COFACT Thailand ,มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย และ เครือข่ายเสริมสร้างอินเทอร์เน็ตปลอดภัย ประเทศไทย จัดเสวนาหัวข้อ “ฮักบ่Hate พื้นที่ออนไลน์ที่ปลอดภัยเพื่อการสื่อสารที่ไม่ใช้ความรุนแรง” และพิธีมอบรางวัลการประกวดคลิปสั้น TikTok แคมเปญ “ฮักบ่Hate” ภายใต้โครงการรณรงค์เสริมสร้างความตระหนักรู้เรื่องการสื่อสารที่ไม่สร้างความเกลียดชัง (Hate Speech) ณ SCBX Next Tech ชั้น 4 สยามพารากอน
นางสาวพรประไพ กาญจนรินทร์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวเปิดงาน สรุปว่า การสื่อสารที่สร้างความเกลียดชัง หรือ Hate Speech ในสังคมไทย เป็นประเด็นสำคัญที่ทุกภาคส่วนและทุกสถาบันทางสังคมต้องให้ความสำคัญโดยเฉพาะการสื่อสารในโลกออนไลน์ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ทุกคนต่างมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น แต่มักพบสถานการณ์การสื่อสาร ทั้งด้วยข้อความ คำพูด หรือแม้แต่รูปภาพ ที่แสดงถึงการเหยียดหยาม ใส่ร้ายป้ายสี ดูถูก รวมถึงการยุยง ปลุกระดมให้เกิดความเกลียดชังระหว่างกลุ่มบุคคล ในประเด็นต่าง ๆ ที่อ่อนไหว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเชื้อชาติ ศาสนา ชาติพันธุ์ ภาษา รูปลักษณ์ เพศสภาพ อาชีพ หรือแม้แต่อุดมการณ์ความเชื่อของบุคคล Hate Speech จึงเป็นบ่อเกิดความเสียหาย อับอาย ลดทอนคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งผู้ถูกกระทำในหลายกรณีได้รับผลกระทบทางจิตใจ และนำไปสู่ปัญหาสุขภาพจิตที่รุนแรง โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชนซึ่งเป็นกลุ่มที่น่าห่วงใยที่สุด ในสถานการณ์ดังกล่าว ด้วยเหตุนี้ สังคมจึงต้องร่วมมือกันผลักดันให้เกิดการสื่อสารที่สร้างสรรค์เพื่อให้พื้นที่ออนไลน์เป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยจาก Hate Speech สำหรับทุกคน
ภายในงานมีการเสวนาหัวข้อ “ฮักบ่Hate พื้นที่ออนไลน์ที่ปลอดภัยเพื่อการสื่อสารที่ไม่ใช้ความรุนแรง” โดย
นายชำนาญ งามมณีอุดม รองผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยเเละสร้างสรรค์ นางสาวอัยยา ตันติเสรีรัตน์ Head of Partnerships & Co-Managing Director บริษัท เทลสกอร์ จำกัด นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์
ผู้ร่วมก่อตั้ง COFACT ประเทศไทย นายสันติ ศิริธีราเจษฎ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านงานคุ้มครองเด็ก องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย และนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ร่วมแลกเปลี่ยนสถานการณ์ความรุนแรงของปัญหาการสื่อสารที่สร้างความเกลียดชัง ผลกระทบโดยเฉพาะด้านสิทธิมนุษยชน ตลอดจนข้อเสนอแนะ
ในการรับมือ และการส่งเสริมการสื่อสารที่สร้างสรรค์
จากนั้น มีการมอบรางวัลการประกวดคลิปสั้น TikTok แคมเปญ “ฮักบ่Hate” ซึ่งมีการเปิดรับผลงานระหว่างวันที่ 7 กุมภาพันธ์ – 8 มีนาคม 2567 และมีเยาวชน นิสิต นักศึกษา และประชาชนทั่วไปร่วมส่งผลงานที่เป็นการแบ่งปันมุมมอง ความเข้าใจ และความตระหนักต่อเรื่องการสื่อสารที่ไม่สร้างความเกลียดชัง เข้าร่วมการประกวดกว่า 200 คลิป โดยมีผู้ได้รับรางวัลเกียรติบัตรพร้อมเงินรางวัล รางวัลละ 10,000 บาท รวมทั้งสิ้น 6 รางวัล ดังต่อไปนี้
รางวัลคลิปวิดีโอคุณภาพ จำนวน 3 รางวัล ได้แก่
(1) ผลงานเรื่อง “เรียนรู้ เข้าใจ ไม่สร้าง #HateSpeech” โดย เด็กหญิงวรกมล ไหมเพ็ชร
(2) ผลงานเรื่อง “ครูกะเทย” โดย นายธรินทร์ญา คล้ามทุ่ง
(3) ผลงานเรื่อง “หยุด Hate Speech วาทะสร้างความเกลียดชัง” โดย นางสาววัชโรบล แก้วสุติน
รางวัลยอดรับชมสูงสุด จำนวน 2 รางวัล ได้แก่
(1) ผลงานเรื่อง “ร่วมด้วยช่วยกันนะคะ เราหยุดเขาก็หยุด” โดย นางสาวจิดาภา เข็มเพ็ชร
(2) ผลงานเรื่อง “ไม่ว่าเราจะเป็นเพศอะไร ยังไง ก็ขอแค่ให้เราเป็นคนดี และไม่ต้องคิดและสนใจกับคำพวกนั้น” โดย นายดลวีย์ คำประดิษฐ
และรางวัลถูกใจกรรมการ จำนวน 1 รางวัล ได้แก่ ผลงานเรื่อง “คำพูดที่แม้แต่ตัวเองยังไม่ชอบ ก็อย่ามอบมันให้คนอื่น” โดย นายไชยวุฒิ มณีวรรณ
สามารถติดตามรับชมผลงานของผู้ได้รับรางวัลและผู้เข้าร่วมการประกวดได้ที่
TikTok : สำนักงาน กสม. (@nhrc_thailand)
ความเห็นล่าสุด