เลือกหน้า

( 8 พ.ย.66 ) กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จัดงานมอบประกาศนียบัตรครีเอเตอร์รุ่นเก๋า พร้อม Digital Buddy จากโครงการสูงวัยหัวใจยังเวิร์ก ปี 2

ในปัจจุบันปฏิเสธไม่ได้ว่า เป็นยุคการสื่อสารผ่านสื่อสังคมออนไลน์ โดยเทคโนโลยีดิจิทัล เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน ทั้งในการติดตามข้อมูลข่าวสาร พูดคุยสร้างความสัมพันธ์ แบ่งปันประสบการณ์ต่าง ๆ การซื้อและจำหน่ายสินค้า หรือแม้กระทั่งในวงการแพทย์ ขนส่ง หรือการเงินการธนาคาร  ทำให้ทุกคนต้องปรับตัว โดยเฉพาะผู้สูงอายุ เพื่อให้รู้จักและเข้าถึงการสื่อสารผ่านสื่อสังคมออนไลน์ได้มากขึ้น โดยปีนี้ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ได้ดำเนินโครงการ สูงวัยหัวใจยังเวิร์กเป็นปีที่ 2 ภายใต้แนวคิด “สื่อเปลี่ยน ผู้สูงอายุปรับ ผลิตสื่อได้ ใช้สื่อเป็น เห็นค่าในตนเอง สร้างประโยชน์ให้กับสังคม”  พร้อมจัดงานมอบประกาศนียบัตร แก่ผู้สูงอายุที่ผ่านการอบรมทักษะผลิตสื่อดิจิทัลโดยมี ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ,นายเทินพันธ์ แพนสมบัติ ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมและพัฒนาสื่อสำหรับประชาชน พร้อมด้วยผู้แทนผู้สูงอายุ นางสาวมัทนา เชตมี และนายสมเกียรติ จิตรวุฒิโชติ และน้อง ๆ Digital Buddy

ณ โรงแรมไอบิส สไตล์ กรุงเทพ รัชดา

ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวว่า “โครงการสูงวัยหัวใจยังเวิร์ก ปี 2” มีเป้าหมายให้ผู้สูงอายุใช้ประโยชน์จากสื่อเป็น ในฐานะผู้ที่มีประสบการณ์ชีวิต ซึ่งเมื่อผ่านการอบรมแล้วผู้สูงอายุจะสามารถผลิตสื่อได้ และนำความรู้ ประสบการณ์ของตนเองมาถ่ายทอด แบ่งปันความรู้ที่มีให้ผู้อื่น และทำให้เห็นคุณค่าในตัวเองมากขึ้นจากการสร้างประโยชน์ให้กับสังคม โดยในปีที่ 1 มีผู้สูงอายุให้ความสนใจในการเรียนรู้และลงมือทำสื่อสร้างสรรค์ เปิดประสบการณ์อัพสกิลความรู้ในทักษะออนไลน์ จำนวนมากกว่า 50 คน ซึ่งในปีที่ 2 นี้ ได้รับการตอบรับเป็นมากขึ้นกว่า 3 เท่า โดยในปีนี้กิจกรรมอบรมทักษะการผลิตสื่อดิจิทัลในรูปแบบของการอบรมออนไลน์ 3 วัน กับ 3 วิชา ได้แก่ D101: Yold Creater: นักผลิตสื่อวัยเก๋า เล่าเรื่อง, ถ่ายทำ, ตัดต่อด้วยโทรศัพท์มือถือ โดย อ.เสกสรร ปั้นยูทูบ, D102: Yold Storyteller: นักเล่าเรื่องออนไลน์วัยเก่า สื่อสารออนไลน์, เขียนบล็อก, เขียนบท เล่าเรื่องง่าย ๆ ให้ทรงพลัง โดย อ.อาชวิชญ์ กฤษณสุวรรณ, อ.พัชราพร ดีวงษ์ และ ผศ. ดร.วีรพงษ์ พวงเล็ก  จาก มหาวิทยาลัยกรุงเทพ และวิชาสุดท้าย ผมเป็นผู้สอนเอง ในวิชา D103: Yold Digital Literacy: วัยเก๋ารู้เท่าทันสื่อดิจิทัล รู้ทันสื่อ ข่าวลือ ข่าวลวง ไม่เชื่อ ไม่ส่งต่อ โดยผู้ร่วมอบรมมีอายุตั้งแต่  50-75 ปี และ มีน้อง ๆ นักศึกษาเข้าร่วมเพื่อส่งต่อความรู้ดี ๆ ให้กับญาติ หรือผู้สูงอายุในครอบครัว รวมผู้เข้าอบรมแล้วมากกว่า 200 คน

นอกจากนี้หลังจากการอบรม ผู้เข้าอบรมทุกท่านได้ผลิตวีดิโอของตนเองเป็นการบ้าน ในหัวข้อ “ความสุขของฉัน” ที่ได้เปิดโอกาสให้ฝึกฝนนำทักษะจากการอบรมไปใช้เล่าเรื่อง Storytelling ตามวิชาที่เรียนไป โดยมีน้อง ๆ ดิจิทัลบัดดี้คอยแนะนำให้ข้อมูล  แก้ไขปัญหาระหว่างฝึกถ่ายทำ และน้อง ๆ ได้คัดเลือกต้นแบบผู้สูงอายุจากคลิปการบ้านเพื่อเป็นแม่แบบที่สามารถต่อยอดและลงมือทำได้จริง จากการลงพื้นที่บ่มเพาะจนเกิดความเข้าใจ ทำได้และใช้เป็น ซึ่งในกระบวนการนี้นอกจากผมจะต้องชื่นชมผู้สูงอายุที่ร่วมโครงการทุกท่านแล้ว ที่ขาดไม่ได้เลยคือ น้อง ๆ  “Digital Buddy” ที่เตรียมพร้อมให้คำปรึกษา สนับสนุน เสมือนลูกหลานที่คอยช่วยเหลือให้ก้าวข้ามอุปสรรค ในการพัฒนาทักษะทางดิจิทัล ถือเป็นต้นแบบแห่งการแบ่งปันองค์ความรู้กลับคืนสู่สังคม โครงการนี้สะท้อนให้เห็นว่าผู้สูงอายุนั้นให้ความสนใจในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นอย่างมาก และพร้อมที่จะปรับตัวให้เท่าทันการสื่อสารแบบใหม่ ๆ อยู่เสมอ

โดยในปีนี้มีผู้สูงอายุเข้ามาเรียนรู้อย่างตั้งใจซึ่งได้รับใบประกาศนียบัตร จำนวน 150 คน  และภายหลังการมอบใบประกาศนียบัตรแล้ว กองทุนได้มอบทุนการศึกษาให้แก่นักศึกษาที่มาสวมบทจิตอาสาเป็น “น้อง Digital Buddy” ผู้ช่วยสอนวัยเก๋าให้ผลิตสื่อได้ ใช้สื่อเป็น ได้แก่ 

  1. น้องศศิธร แย้มประโคน จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
  2. น้องทวีลาภ บุญเรือง จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
  3. น้องชินวัตร พสุธา จากมหาวิทยาลัยเกริก
  4. น้องกฤษดา พันธ์สาย จากมหาวิทยาลัยเกริก
  5. น้องวสิษฐ์พล หาสาฤทธิ์ จากมหาวิทยาลัยกรุงเทพ

 

สามารถติดตามข้อมูลข่าวสารของ โครงการสูงวัยหัวใจยังเวิร์กได้ที่เฟซบุ๊กเพจ สูงวัยหัวใจยังเวิร์ก

และติดตามข่าวสารของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ได้ที่ www.thaimediafund.or.th หรือ Facebook Thaimediafundofficial