เลือกหน้า

วิสัยทัศน์
เป็นองค์กรชั้นนำเพื่อการขับเคลื่อนนวัตกรรมสื่อปลอดภัย
และสร้างสรรค์

พันธกิจ
1. สนับสนุน และสร้างการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนในการผลิต พัฒนาเนื้อหา และส่งเสริมผู้ผลิตสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ด้วยนวัตกรรม เพื่อพัฒนาไปสู่สังคมแห่งการเรียนรู้
2. พัฒนาองค์ความรู้ด้านสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ การเฝ้าระวังสื่อไม่ปลอดภัย และทักษะการรู้เท่าทันสื่อแก่เด็กและเยาวชน รวมถึงประชาชนทั่วไป
3. พัฒนาองค์กรไปสู่องค์กรที่มีขีดสมรรถนะสูงเพื่อการขับเคลื่อนภารกิจด้านสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

ยุทธศาสตร์ 5 ด้าน

ยุทธศาสตร์ที่ 1 ส่งเสริมการผลิต ให้บริการเนื้อหา และพัฒนาศักยภาพผู้ผลิตสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ด้วยนวัตกรรม 

ยุทธศาสตร์ที่ 2 ส่งเสริมการวิจัย พัฒนา และสร้างองค์ความรู้ เพื่อส่งเสริมการเข้าถึงและใช้ประโยชน์สื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ให้ประชาชนและสังคม 

ยุทธศาสตร์ที่ 3 เสริมสร้างการรู้เท่าทันสื่อ และเฝ้าระวังสื่อไม่ปลอดภัยและสร้างสรรค์แก่เด็ก และเยาวชน รวมถึงประชาชนทั่วไป 

ยุทธศาสตร์ที่ 4 ส่งเสริมการมีส่วนร่วม พัฒนาเครือข่ายเพื่อการเข้าถึง เผยแพร่ และนำไปใช้ประโยชน์เชิงสังคม 

ยุทธศาสตร์ที่ 5 พัฒนาองค์กรสมรรถนะสูงและสร้างมูลค่าเพิ่มของสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ 

กองทุนจะทำอะไร

สนับสนุนและกระตุ้นให้เกิด “สื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์”

สร้างนวัตกรรมสื่อแบบต่างๆ เพื่อทลายกรอบการผลิตเนื้อหาแบบเดิมๆ เพิ่มเนื้อหาที่เป็นทางเลือกในการรับรู้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ได้มากขึ้น และนำเสนอข้อมูลที่จำเป็นต้องรู้ในมิติที่คนต้องการเพื่อการเล่าเรื่องที่รอบด้าน หลากหลายแง่มุม และขับเคลื่อนประเด็นที่เป็นประโยชน์สู่การมีส่วนร่วมของคนในสังคมได้ พร้อมทั้งสร้างฐานความรู้ด้านต่างๆ ในการสนับสนุนการสร้างสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

โดยกองทุนได้มีมาตรการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ให้สำเร็จด้วยกลยุทธ์ 6 สร้าง

สร้างที่ 1 สร้างสื่อ มุ่งเน้นเกี่ยวกับการผลิตสื่อที่มุ่งสร้างผลกระทบเชิงบวกทางสังคม วัฒนธรรม ผลกระทบทางเศรษฐกิจ การสร้างมูลค่าเพิ่ม การหนุนเสริมอำนาจละมุน (Soft Power) และการเผยแพร่ไปยังกลุ่มเป้าหมายทั้งในประเทศและต่างประเทศ

สร้างที่ 2 สร้างคน มุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพผู้ผลิตสื่อระดับต่าง ๆ การพัฒนาบุคลากรด้านการผลิตสื่อที่ครอบคลุมทั้งกลุ่มเป้าหมายสื่อ พัฒนาสื่อมวลชนในประเด็น ส่งเสริมสื่อมวลชนในพื้นที่ รวมไปถึงความร่วมมือกับองค์กรผู้ผลิตสื่อมืออาชีพทั้งในและต่างประเทศ

สร้างที่ 3 สร้างองค์ความรู้ มุ่งเน้นการวิจัยพัฒนา (R&D) เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ด้านสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้จริง ยกระดับกองทุนฯ ให้เป็นคลังความรู้ และแหล่งเรียนรู้ที่เกี่ยวกับสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์อย่างครบวงจร

สร้างที่ 4 สร้างภูมิคุ้มกัน มุ่งเน้นการสร้างทักษะการเฝ้าระวังสื่อที่ไม่ปลอดภัย การรู้เท่าทันสื่อ เฝ้าระวังสื่อร้ายที่ส่งผลกระทบด้านลบ และความฉลาดทางดิจิทัลให้กับเด็ก เยาวชน และประชาชนทุกกลุ่ม รวมถึงการส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพ สำหรับเด็กและเยาวชน สร้างเครือข่ายและกลไกในการรับเรื่องร้องเรียน ตรวจสอบ และแจ้งเตือนประชาชนถึงสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์

สร้างที่ 5 สร้างเครือข่าย มุ่งเน้นที่การสื่อสารประชาสัมพันธ์เพื่อการรับรู้และมีส่วนร่วม การพัฒนาและส่งเสริมภาคีเครือข่ายสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ รวมถึงการทำงานอย่างมีส่วนร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อสร้างระบบนิเวศสื่อที่ดี

สร้างที่ 6 สร้างองค์กร เน้นที่การบริหารจัดการและพัฒนาองค์กร โดยการนำเทคโนโลยีการผลิตสื่อที่ทันสมัยและเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้เพื่อเพิ่มศักยภาพในการทำงานและยังมีการเชื่อมโยงการเข้าถึงข้อมูลระหว่างหน่วยงานของภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน

วัตถุประสงค์ / อำนาจหน้าที่

พระราชบัญญัติกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ พ.ศ.​2558 กำหนดวัตถุประสงค์ / อำนาจหน้าที่กองทุนฯ ดังนี้

มาตรา 5

ให้จัดตั้งกองทุนขึ้นกองทุนหนึ่งเรียกว่า “กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์” ให้กองทุนเป็นนิติบุคคลและมีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้

(1) รณรงค์ ส่งเสริม และสนับสนุนการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
(2) ส่งเสริมให้มีการพัฒนาศักยภาพของผู้ผลิตสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
(3) ส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนโดยเฉพาะเด็ก เยาวชนและครอบครัวมีทักษะในการรู้เท่าทันสื่อ เฝ้าระวังสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ และสามารถใช้สื่อในการพัฒนาตนเองชุมชนและสังคม
(4) ส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างกว้างขวาง เพื่อให้เกิดการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
(5) ส่งเสริมให้มีการศึกษาวิจัย อบรม พัฒนาองค์ความรู้และการสร้างนวัตกรรมด้านสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
(6) ส่งเสริมบุคคล องค์กรชุมชน องค์กรเอกชน องค์กรสาธารณประโยชน์ ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ ที่ดำเนินกิจกรรมเกี่ยวกับสื่อให้มีการผลิตและพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
(7) ดำเนินการและส่งเสริมให้มีสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้อย่างทั่วถึง

มาตรา 9

ให้กองทุนมีอำนาจกระทำกิจการต่าง ๆ ภายในขอบแห่งวัตถุประสงค์ตามมาตรา 5 และอำนาจเช่นว่านี้ให้รวมถึง
(1) ถือกรรมสิทธิ์ มีสิทธิครอบครอง และมีทรัพยสิทธิต่าง ๆ
(2) ก่อตั้งสิทธิ หรือกระทำนิติกรรมใด ๆ ทั้งในและนอกราชอาณาจักร
(3) หาผลประโยชน์จากทรัพย์สินของกองทุน
(4) กระทำการอื่นใดบรรดาที่เกี่ยวกับหรือเกี่ยวเนื่องกับวัตถุประสงค์ของกองทุน

มาตรา 21

คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ควบคุมดูแลกองทุนให้ดำเนินกิจการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ในมาตรา 5 อำนาจหน้าที่เช่นว่านี้ให้รวมถึง

(1) กำหนดนโยบาย แผน และยุทธศาสตร์เกี่ยวกับการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
(2) ออกประกาศกำหนดลักษณะของสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์
(3) กำหนดมาตรการเพื่อส่งเสริมการพัฒนาและสร้างทักษะในการรู้เท่าทันสื่อ รวมทั้งเพื่อส่งเสริมการใช้สื่อเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้และพัฒนาตนเอง ชุมชน และสังคม
(4) กำหนดมาตรการเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการเฝ้าระวังสื่อตามมาตรา 5 (3)
(5) กำหนดมาตรการเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือและประสานงานระหว่างส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐ รวมทั้งภาคเอกชน ในการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
(6) ให้ความเห็นชอบแผนการดำเนินงานประจำปี แผนการเงินและงบประมาณประจำปีของกองทุน
(7) ออกข้อบังคับว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการจัดสรรเงินแก่โครงการหรือกิจกรรมที่เกี่ยวกับการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
(8) ออกข้อบังคับว่าด้วยการจัดแบ่งส่วนงานภายในของสำนักงาน และขอบเขตหน้าที่ของส่วนงานดังกล่าว
(9) ออกข้อบังคับว่าด้วยการคัดเลือกผู้จัดการ การปฏิบัติงานและการมอบอำนาจของผู้จัดการ
(10) ออกข้อบังคับว่าด้วยการบริหารงาน การบริหารงานบุคคล การเงิน การพัสดุและทรัพย์สินของสำนักงาน และการตรวจสอบภายในของกองทุน
(11) ออกข้อบังคับว่าด้วยการกำหนดอัตราค่าตอบแทน หรือค่าบริการในการดำเนินกิจการของกองทุน
(12) กำหนดจำนวน ตำแหน่ง ระยะเวลาจ้าง อัตราเงินเดือนและค่าจ้าง เงินเดือนของเจ้าหน้าที่และลูกจ้าง
(13) แต่งตั้งที่ปรึกษา คณะอนุกรรมการเกี่ยวกับการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน คณะอนุกรรมการเกี่ยวกับการเฝ้าระวังสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ คณะอนุกรรมการส่งเสริมสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์และคณะอนุกรรมการอื่น ตามที่เห็นสมควรเพื่อพิจารณาหรือปฏิบัติการตามที่คณะกรรมการมอบหมาย
(14) กระทำการอื่นใดที่จำเป็นเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของกองทุน
ประกาศตาม (2) และข้อบังคับตาม (7) ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

มาตรา 25

สำนักงานมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้

(1) รับผิดชอบงานธุรการของคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และคณะอนุกรรมการตามมาตรา 21 (13)
(2) เสนอนโยบาย แผน และยุทธศาสตร์เกี่ยวกับการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์แผนการดำเนินงานประจำปี แผนการเงินและงบประมาณประจำปีของกองทุน รวมทั้งศึกษา วิเคราะห์และประเมินผลการดำเนินการของกองทุนต่อคณะกรรมการ
(3) ให้คำแนะนำแก่ผู้ผลิตสื่อในการผลิตสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
(4) จัดทำบัญชีและรายงานผลการปฏิบัติงานประจำปีของกองทุน
(5) ดำเนินการอื่นใดตามที่คณะกรรมการ คณะอนุกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และคณะอนุกรรมการตามมาตรา 21 (13) มอบหมาย

ติดต่อ/ร้องเรียน ( Call Center )

02 273 0116-9

จำนวนผู้เข้าชมเว็บไซต์

 1,429,301

กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

เลขที่ 388 อาคารเอส.พี. (ไอบีเอ็ม) อาคารเอ ชั้น 6 ถนนพหลโยธิน

แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร 10400

โทร. 02 273 0116-9 โทรสาร. 02 273 0120

email: [email protected] (ส่งเอกสาร/หนังสือเชิญ)

email: [email protected]

กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

เลขที่ 388 อาคารเอส.พี. (ไอบีเอ็ม) อาคารเอ ชั้น 6
ถนนพหลโยธิน แขวงสามเสนใน เขตพญาไท
กรุงเทพมหานคร 10400

โทร. 02 273 0116-9 โทรสาร. 02 273 0120
email: [email protected] (ส่งเอกสาร/หนังสือเชิญ)
email: [email protected]