เลือกหน้า

ความสวย ทำไมต้องมีมาตรฐาน?

เมื่อรูปร่างหน้าตามีบรรทัดฐานความงามควบคุม

 

            #RealSizeBeauty วาทกรรมทางความงามชุดใหม่ที่มาพร้อมกับเวทีการประกวด Miss Universe 2021 เมื่อความงามไม่ได้ขึ้นอยู่กับรูปร่าง ผอมเพรียว ผิวเนียนสวย หรือมีหน้าอกใหญ่ อีกต่อไป “แอนชิลี สก๊อต-เคมมิส” ตัวแทนประเทศในการประกวดครั้งนี้ ได้สร้างกระแสการเปลี่ยนนี้ให้เกิดขึ้นในสื่อสังคมออนไลน์ในประเทศไทย ในรอบการประกวด preliminary บทเวที Miss Universe Thailand แอนได้กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า  

ฉันมายืนอยู่ตรงนี้เพื่อเป็นตัวแทนของพวกคุณทุกคน ทุกคนที่เคยรู้สึกไม่เป็นส่วนหนึ่ง รู้สึกถูกตัดสินและรู้สึกเจ็บปวด เพราะเรามีความสวยที่ไม่เหมือนกับมาตรฐานกำหนดไว้ โดยเฉพาะ young girls เพื่อที่พวกคุณจะได้เฉลิมฉลองความเป็นตัวเอง ความมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ฉันมองเห็นพวกคุณทุกคน ฉันได้ยินเสียงของพวกคุณ และฉันมาที่นี่เพื่อพวกคุณ

            แอนชิลีได้สร้างปรากฏการณ์ใหม่ในวงการประกวดนางงามประเทศไทย เมื่อเธออยู่นอกเหนือจากมาตรฐานความงามในแบบที่ทุกคนรับรู้ เธอไม่ใช่คนผอมเพรียวตามแบบมายาคตินางงามที่เคยมีมา จนนำมาสู่การปลุกกระแส #RealSizeBeauty ขึ้นมาในสังคมไทย

 

            เมื่อการนิยามความงามที่ผ่านมาในอดีตจนถึงปัจจุบันนั้นขึ้นอยู่กับอำนาจทางสังคม และรูปแบบสังคมที่เปลี่ยนไปตามกาลเวลา จนกระทั่งในศตวรรษที่ 1980 เป็นต้นมา วาทกรรม “ความสวย” ในสังคมตะวันตก ได้ถูกโยงเอาค่านิยมความสวย ไว้กับความผอมยิ่งกว่าความผอม และได้กลายเป็นปัญหาของผู้หญิงที่พยายามทำตามค่านิยมนั้น (อุ่นใจ เจียมบูรณะกุล, 2562) 80’s จุดเริ่มต้นของยุคนางแบบ หญิงสาวถูกปักป้ายบนมาตรฐานความสวยแบบสูง ผอม ผิวแทน แต่เฟิร์มแบบนักกีฬา สะโพกต้องเล็กลงและหน้าอกใหญ่ อิทธิพลของนางแบบในสื่อทำให้สาว ๆ พยายามผอมลง ในขณะที่นางแบบนั้นยิ่งผอมกว่าคนปกติลงไปอีก (อาภาภัทร ธาราธิคุณ, 2564)

            ในงานศึกษาเรื่อง วาทกรรมความงามและชุดว่ายน้ำ ที่ผ่านมาของ Media Alert ได้กล่าวถึงแนวคิดเรื่องวาทกรรมไว้ตอนหนึ่งว่า อุดมการณ์เกี่ยวกับ ผู้หญิง และ ความงาม ที่ถูกกําหนดผ่านสังคมและมีแนวโน้มที่จะถูกผลิตซ้ำและเผยแพร่ โดยสื่อมวลชนสู่สังคมในวงกว้าง โดยจากการทบทวนการศึกษาเกี่ยวกับวาทกรรมความงามของผู้หญิงไทยผ่านสื่อ ทั้งงานวิจัยของณัฐพร พานโพธิ์ทอง (2551) รัชนินท์ พงศ์อุดม (2548) ศิริพร ภักดีผาสุข (2552) รวมถึง นันทนา วงษ์ไทย (2556) พบข้อสรุปเกี่ยวกับอุดมการณ์ และลักษณะความงามที่พึงประสงค์ของหญิงไทยที่คล้ายคลึงกัน นั่นคือการมีรูปร่างผอมเพรียวดูอ่อนเยาว์ผิวขาวกระจ่างใสหน้าอกใหญ่ตึงและได้รูปทรง

            มาตรฐานความงามที่ถูกกำหนดโดยสื่อมวลชน การนําเสนอความงามผ่านสื่อมวลชนประเภทต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นรายการโทรทัศน์ประเภทส่งเสริมให้คนทําศัลยกรรม หรือ งานโฆษณาที่มักนําเสนอว่าความสวยคือจุดเด่นของผู้หญิงที่ทําให้เป็นที่ต้องตาต้องใจของเพศตรงข้าม ในขณะที่คนไม่สวยหรือคนหน้าตาไม่ดีตามค่านิยมของสังคมจะกลายเป็นคนที่ไม่มีที่ยืนในสังคม (สหภาพ พ่อค้าทอง, 2563) ในบทความเรื่อง “แบบนั้นสวย แบบนี้หล่อ? เมื่อ ‘มาตรฐานความงาม ของสังคมสร้างความบอบช้ำให้ผู้คน” โดย The Matter (2563) ได้กล่าวว่าสื่อโฆษณาชี้นำให้ผู้คนคิดว่า จะต้องมีผิวแบบนั้น หุ่นแบบนี้ เพื่อนำไปสู่การบริโภคสินค้าของแบรนด์ตนเอง เวทีประกวดต่าง ๆ ที่ใช้รูปร่างหน้าตาเป็นเกณฑ์ ซึ่งเมื่อตัดสินผู้ชนะในตอนสุดท้าย ก็ถือเป็นการเคาะสรุปว่า หน้าตาที่สวยหล่อควรจะเป็นแบบไหน

            เมื่อสื่อประกอบสร้างมายาคติความงาม ในงานศึกษาเรื่อง “สื่อสร้างสวย” มายาคติจากการอบรมบ่มเพาะจากสื่อ ของ สหภาพ พ่อค้าทอง (2563) ได้กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า สื่อ เป็นสิ่งที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อทัศนคติ พฤติกรรม และวิถีชีวิตของคนทุกเพศทุกวัยในสังคมไม่ว่าจะเป็นเด็ก วัยรุ่น หรือแม้แต่ผู้ใหญ่ จนทำให้สื่อกลายมาเป็นผู้ที่มีอิทธิพลต่อผู้รับสารในหลาย ๆ ด้าน วาทกรรมความงามเป็นการประกอบสร้างภายใต้อำนาจของชนชั้นในสังคมที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละยุคสมัยที่ต่างกัน ตามแนวคิดขั้นตอนและกระบวนของวาทกรรม

รูปภาพ 1 ขั้นตอนและกระบวนของวาทกรรม
ที่มา : วิธีวิทยาวิเคราะห์วาทกรรมแนววิพากษ์ในการศึกษาการพัฒนา. (2558). น.114 ทฤษฎี ระเบียบวิธีวิจัย (methodology) และหน่วยในการศึกษาวาทกรรม

            วาทกรรม “ความสวย ความงาม” ถูกประกอบสร้างมาอย่างช้านาน เช่นเดียวกับเวทีประกวด Miss Universe ที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1952 หรือ 69 ปีมาแล้ว การนิยามความหมายของความงามขึ้นอยู่กับทั้งผู้จัดงาน คณะกรรมการ หรือแม้กระทั่งผู้มีอำนาจตัดสิน แสดงออกมาผ่านผู้ได้รับรางวัลในแต่ละปี จนนำมาซึ่งการปฏิบัติงานของวาทกรรมนั้น ที่ทำหน้าที่ถ่ายทอดความงามในรูปแบบของเวทีประกวด Miss Universe ที่กลายเป็นบรรทัดฐานให้ผู้หญิงทั่วโลก บรรทัดฐานความงามชุดนี้ได้ประสานและกลายเป็นค่านิยมหลักของสังคมโลกไปในที่สุด

วาทกรรมชุดใหม่ #RealSizeBeauty ได้เข้ามาทำหน้าที่ผลิตสร้างความหมายใหม่ (resignification) ของความงาม ที่เกิดขึ้นจากกลุ่มคนที่มี ความคิด ความเชื่อ หรือรูปร่างหน้าตา ไม่ตรงตามมาตรฐานความงามที่ได้กำหนดไว้แต่เดิม นำไปสู่การผลิตสร้างความหมายใหม่ทางวาทกรรมของผู้ตกเป็นเหยื่อ เป็นฝ่ายเสียเปรียบ เป็นผู้ถูกกระทำและเป็นเสียงที่ไม่มีใครได้ยินให้ปรากฏขึ้นในสังคม โดยการผลิตสร้างความหมายใหม่ที่ต้องการการเปลี่ยนแปลงจนกลายเป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม (social movement)

สุดท้ายแล้ว การเคลื่อนไหวทางสังคมในการเปลี่ยนแปลงมายาคติความงามกับวาทกรรม #RealSizeBeauty นี้ จะมีพลังสามารถต่อสู้ต่อรองกับมายาคติความงามชุดหลักของสังคมได้หรือไม่ หรือการเริ่มต้นนี้จะเป็นเพียงแค่กระแสสังคมเพียงชั่วข้ามคืน ยังคงต้องติดตามกันต่อไปถึงข้อถกเถียงชุดนี้ว่าจะเกิดขึ้นต่อไปหรือไม่ หรือจะหายไปตามกาลเวลา

 

ที่มา

สหภาพ พ่อค้าทอง. (2563). “สื่อสร้างสวย” มายาคติจากการอบรมบ่มเพาะจากสื่อ. วารสารสหศาสตร์ศรีปทุม ชลบุรี, 6(1), 12-21.

อาภาภัทร ธาราธิคุณ. (2564). Beauty Standard ส่องวิวัฒนาการมาตรฐานความงามที่ไม่ควรมีมาตรฐาน. สืบค้นจาก https://www.modernist.life/18747/?fbclid=IwAR3-C24UkSEZ2Hq-nMET0wKosntlDxKk54YHsinqQFqiDVfXx-OVstfFukE

อุ่นใจ เจียมบูรณะกุล. (2562). วาทกรรม “ความสวย” และการต่อรองอัตลักษณ์วัฒนธรรมบริโภค. Journal of Social Sciences, Faculty of Social Sciences, Chiang Mai University, 18(1), 133-167.

Media Alert. (2564). วาทกรรมความงามผ่านเรือนร่างคนดังในชุดว่ายน้ำตามวาระสื่อในฤดูร้อน. สืบค้นจาก https://www.thaimediafund.or.th/mediaalert-factsheet07/

The Matter (2563). “แบบนั้นสวย แบบนี้หล่อ? เมื่อ ‘มาตรฐานความงาม’ ของสังคมสร้างความบอบช้ำให้ผู้คน. สืบค้นจาก https://thematter.co/social/beauty-standard/120141