(8 ตุลาคม 2565) กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เดินหน้าอย่างต่อเนื่องลุยภาคอีสานพบผู้ผลิตสื่อ ในงาน “Road To Creators สื่อสร้างสรรค์ โอกาสสำหรับทุกคน” ครั้งที่ 3 ณ โรงแรมฟอร์จูน ริเวอร์วิว จ.นครพนม ชวนคนขอรับทุนผลิตสื่อสร้างสรรค์ประจำปี 2566 วงเงินงบประมาณรวม 300 ล้านบาท มีนางกรรญา ศูนย์คำ วัฒนธรรมจังหวัดนครพนม กล่าวต้อนรับผู้ร่วมงาน


ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ บรรยายในหัวข้อ “สื่อสร้างสรรค์เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม” โดยกล่าวว่า สื่อดีสร้างได้ แต่สื่อไม่ดีเราต้องป้องกันไม่ให้เข้าใกล้ เพราะสื่อมีผลกระทบกับชีวิตประจำวัน ถ้าเราตั้งหลักไม่ดีสื่อลบก็จะส่งผลลบต่อชีวิต ในทางกลับกันถ้าเราเปิดรับสื่อดีก็จะส่งผลกระทบที่ดีต่อเราเช่นกัน สื่อที่ดีคือสิ่งที่ทำให้คนยิ้มได้ ทำให้เกิดความรัก เกิดพลังสร้างสรรค์สิ่งดี ๆ ให้กับสังคม เราอยากเห็นสื่อที่จุดประกาย สร้างประเด็นให้คนฉุกคิด เกิดผลกระทบเชิงบวกในสังคม
‘กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์เป็นเพียงองค์กรเล็กๆ ที่อยากสร้างสรรค์สิ่งดี ๆ ให้กับสังคม สื่อมีพลังทั้งทำลายและสร้างสรรค์ สื่อที่ทำให้คนหันกลับมารักกัน และฟื้นฟูสังคมประเทศชาติ กองทุนไม่ได้เพียงแค่ภารกิจสร้างสรรค์สื่อดีๆ เพียงอย่างเดียว แต่เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้จับมือภาคีทุกภาคส่วนร่วมกัน และใช้กระบวนการขับเคลื่อนสังคมผ่านมิติของสื่อสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงามในเกิดขึ้นในสังคม’

สำหรับการจัดสรรทุนในปี 2566 นี้ยังคงรูปแบบเดิม คือแบ่งทุนเป็น 3 ประเภท ได้แก่ 1. ทุนประเภทเปิดรับทั่วไป (Open Grant) งบประมาณ 90 ล้านบาท คือการให้ทุนผลิตสื่อเพื่อตอบสนองต่อกลุ่มเป้าหมายเด็กและเยาวชน ประชาชนทั่วไป ผู้สูงอายุ และผู้พิการผู้ด้อยโอกาส 2. ทุนประเภทยุทธศาสตร์ (Strategic Grant) งบประมาณ 170 ล้านบาท เปิดให้ผู้ยื่นขอรับการสนับสนุนผลิตสื่อใน 7 ประเด็นตามที่กองทุนกำหนด และ 3. ทุนประเภทความร่วมมือ (Collaborative Grant) งบประมาณ 40 ล้านบาท เปิดให้กับภาคีเครือข่าย ผู้ที่เคยร่วมงานกับกองทุน
ทั้งนี้ผู้ที่สนใจเข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.thaimediafund.or.th กองทุนเปิดให้ยื่นข้อเสนอเพื่อขอรับทุนประจำปีงบประมาณ 2566 มาแล้ว 8 วัน มีผู้สนใจยื่นข้อเสนอโครงการเข้ามาในระบบแล้วจำนวนมาก สำหรับใครที่สนใจหรือยังลังเลอยากให้รีบคิดรีบเขียนโครงการส่งเข้ามา พร้อมทั้งยังแนะนำให้ยื่นก่อนปิดระบบล่วงหน้า 3 วัน ไม่อยากให้ทุกท่านเสียโอกาส โดยยื่นผ่านระบบออนไลน์ได้ตั้งแต่วันที่ 1-31 ตุลาคม 2565 ภายในเวลา 16.30 น. ผ่านเว็บไซต์ https://granting.thaimediafund.or.th ”

นางสาวพัชรพร พงษ์ทัดศิริกุล ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมการรู้เท่าทันและเฝ้าระวังสื่อ ยังได้ย้ำประเด็นสำคัญในการขอทุนเหมือนกับทุกภูมิภาคที่ได้บรรยายมาว่า หัวใจหลักสำคัญในการเขียนโครงการเพื่อขอรับทุนจากกองทุนขอให้เขียนสรุปรายละเอียดของทั้งโครงการให้กระชับแต่อ่านแล้วเข้าใจ ครบถ้วน ตอบโจทย์ที่กองทุนต้องการ โดยมีความคิดสร้างสรรค์ มีความน่าเชื่อถือ และสามารถทำได้จริง โดยยึดหลัก 5 W 1 H = What-When-Where-Why-How ให้สอดคล้องกับโจทย์ของผู้ให้ทุน คุ้มค่ากับงบประมาณ และเหมาะสมสิ่งจะได้รับ

ทั้งนี้เวทีเสวนา “แนะแนวคิด แชร์ประสบการณ์ จากผู้รับทุนกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์” ที่มีนายเทินพันธ์ แพนสมบัติ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์สำหรับประชาชน เป็นผู้ดำเนินรายการ และมีคุณอรอุมา เกษตรพืชผล หนึ่งในผู้ที่ได้รับทุนจากกองทุนประจำปีงบประมาณ 2565 เล่าถึงประสบการณ์ในการทำโครงการผลิตสื่อและเผยแพร่สถานีเฟซบุ๊กไลฟ์และศูนย์ช่วยเหลือออนไลน์ “สื่ออาสาประชาชน” ระยะที่ 2 ร่วมกับกองทุนว่า
ก่อนหน้านี้ปี 2564 เคยขอทุนกับกองทุนสื่อทำรายการเกี่ยวกับเด็กแต่ไม่ได้ทุน พอในปี 2565 จึงปรับรูปแบบการเขียนข้อเสนอโครงการใหม่ให้ชัดเจนมากขึ้น โดยพิจารณาจาก 2 ส่วน คือสื่อที่เราทำมีลักษณะปลอดภัย สร้างสรรค์หรือไม่ ช่วยเหลือสังคมได้อย่างไร อีกส่วนคือสื่อหรือโครงการที่เราจะทำนี้ตอบโจทย์ที่กองทุนต้องการหรือไม่ ศึกษาจาก พรบ.กองทุนฯ ว่ากองทุนมีวัตถุประสงค์กองทุนอย่างไร นโยบายในการทำงานเป็นอย่างไร และกองทุนอยากได้อะไรจากการให้ทุนนี้สามารถเชื่อมโยงกับสิ่งที่เราทำหรือไม่ หรือดูจากผลงานที่กองทุนเคยให้ทุนไว้ในปีที่ผ่านมาก็ได้ จะช่วยให้เห็นความเป็นกองทุนชัดเจนมากขึ้น
ตอนเขียนโครงการเราชัดเจนว่าวัตถุประสงค์ในการทำโครงการของเราคือต้องการเป็นสื่อกลางในการสร้างระบบนิเวศสื่อที่ดีซึ่งตรงกับภารกิจของกองทุน เราตั้งใจให้ความรู้เรื่องการรู้เท่าทันสื่อแก่ประชาชน และช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อนคือกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน รวมถึงยังเกิดการสร้างเครือข่ายในการทำงานร่วมกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่กองทุนอยากเห็น ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นคนทำสื่อเท่านั้นแต่เป็นความร่วมมือในการทำงานของภาคีทุกภาคส่วนมาร่วมกันสร้างสรรค์สื่อดี ๆ
สำหรับการทำงานกับกองทุนเป็นเรื่องปกติที่จะต้องเจอกับอุปสรรคปัญหาในการทำงาน แต่กองทุนมีพี่เลี้ยงโครงการที่คอยให้ความช่วยเหลือคำแนะนำตลอดการทำโครงการ ทำให้การทำงานสามารถดำเนินต่อไปได้ตามแผนที่วางไว้
‘มองว่ากองทุนสื่อก็เป็นทีมเดียวกันกับเราอยากทำงานดีๆ ออกมาให้ภูมิใจในฐานะสื่อมวลชน เรามองเห็นว่าสิ่งที่เราทำสังคมได้ ประชาชนได้ เราก็ภูมิใจ ทำให้เต็มที่ ทำให้ดีที่สุดตอนนี้ยังพอมีเวลาในการขอทุน หากมีข้อสงสัยหรือติดปัญหาอะไรกองทุนพร้อมให้คำแนะนำทุกท่าน’ คุณอรอุมา กล่าว
ทั้งนี้ กิจกรรม Road to Creators ครั้งที่ 4 ซึ่งเป็นครั้งสุดท้ายของปีนี้ จะจัดขึ้นในวันที่ 15 ต.ค. 65 ณ โรงแรมเอสหาดใหญ่ จ.สงขลา ผู้ที่สนใจสามารถลงทะเบียนร่วมงานได้ที่ https://shorturl.asia/xRFBw



ความเห็นล่าสุด