“ผมว่าจริง ๆ คนเรามีเวลาเท่ากัน แล้วอยากให้หาตัวเองให้เจอก่อนเป็นอันดับแรก ไม่อยากให้รู้สึกว่าอยากทำเพราะใคร ๆ เขาก็ทำกัน ไม่อยากให้ทำเพราะว่าเรื่องเงินเป็นเรื่องใหญ่ ถ้าคุณรู้สึกอยากจะลองเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างในชีวิตตัวเอง โดยเฉพาะหน้าที่การงาน อยากให้คุยกับตัวเองแบบอย่างตั้งอกตั้งใจ ว่ามันเป็นความต้องการของเรา คุณมองเห็นภาพตัวเองในอีก 5 ปี 10 ปี ในภาพนั้นไหม เหมือนวันนี้ที่ผมรู้สึกว่า ผมมีทุกอย่างอยู่ในมือเลย รอให้ผมมาลงมือทำ ถ้ามันชัดมากขนาดนั้น แล้วทำไมเราจะไม่ทำ”
บางช่วงบางตอนจากความรู้สึกของ วุฒิภัทร ภูวเดชากร อดีตสจ๊วตหนุ่มที่ทำงานอยู่บนฟากฟ้า แต่หันมาเป็นพ่อครัวขนมไทยมือใหม่ ในอำเภอสวรรคโลก ที่สุโขทัย หลังรับรู้ถึงความรู้สึกที่เปลี่ยนไปในอาชีพที่เคยทำอยู่ โดยมีโควิด-19 เป็นตัวเร่งเร้าในการตัดสินใจพลิกบทบาทชีวิตให้ลงตัวขึ้น
“มันเป็นรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เราไม่เคยสังเกต ตอนที่เราเป็นวัยรุ่น อาจจะเป็นจังหวะของชีวิตด้วย ที่ทำให้เรารู้สึกว่า เราอยากจะดูแลสุขภาพมากขึ้น กิน นอน เป็นเวลามากขึ้น เงินก็ไม่มากพอ โบนัสก็ไม่มี การขึ้นเงินเดือนน้อยมาก ทำให้เรากลับมาคิดว่า เรายังอยากอยู่แบบนี้ไหม มันไม่เห็นความก้าวหน้า เรายังโอเคกับมันรึเปล่า มันทำให้เรามองหาอาชีพเสริม หรืออยากจะเปลี่ยนทิศทาง หรือเปลี่ยนอาชีพ”
วุฒิภัทร เล่าย้อนไปถึงช่วงที่ตัดสินใจเปลี่ยนอาชีพจากสจ๊วตสายการบินมาเป็นพ่อครัวขนมไทย หลังเดินทางไปเที่ยวบ้านของแฟน ที่อำเภอสวรรคโลก สุโขทัย ซึ่งคุณแม่มีสูตรทำขนมไทยโบราณ ทำให้เขาสนใจอาชีพใหม่ จากคนที่ทำขนมไทยไม่เป็น ไปเรียนทำขนมและสร้างสรรค์ขนมไทยให้มีความแปลกใหม่ แต่ยังคงความหอมอร่อยและทรงคุณค่าของขนมไทยฉบับดั้งเดิมไว้ได้อย่างกลมกล่อม เชื่อมต่อกับคนรุ่นใหม่ได้อย่างน่าสนใจ ในชื่อของ ขนมไทยบ้านมยุรา ที่ได้รับเสียงตอบรับจากลูกค้าอย่างมาก ทั้งขนมชั้นหนานุ่ม ไม่แข็งกระด้าง ขนมผกากรอง แป้งนิ่ม นุ่มละมุนลิ้น หรืออาลัวรูปส้มไส้ทองเอกไข่แดงเค็ม หรือจะเป็นเปียกปูนใบเตยครีมกะทิ ที่หอมกลิ่นใบเตยผสมกับความหวานหอมของน้ำตาลโตนดได้อย่างละมุน ไม่หวานเกินไป และยังก้าวต่อไปไม่หยุด ในการพัฒนาขนมไทยให้เป็นของที่ระลึกและของฝากจากเมืองสวรรคโลก สุโขทัย
เรื่องราวของวุฒิภัทร ซึ่งเป็นหนึ่งในแขกรับเชิญในรายการทอล์ค “The Turning Point จุดพลิกคลิกโอกาส” รายการที่จะพาคุณไปรู้จักจุดพลิกของหลายคนที่กลายเป็นโอกาสเปลี่ยนเส้นทางชีวิตให้ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป จากชีวิตของ 7 แขกรับเชิญ จากอาชีพหนึ่งสู่อีกอาชีพหนึ่ง โดยรายการนี้เกิดจากไอเดียและความชอบของ ธาดา ราชกิจ หัวหน้าโครงการและผู้ควบคุมการผลิตรายการนี้ ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ประเภทเปิดรับทั่วไป ประจำปี 2564
“The Turning Point ที่เราตีความไว้ ไม่ได้พลิกชีวิตจากศูนย์ แต่จะตีความเป็นทางเลือก เช่นทำไมถึงค้นพบว่าตัวเองชอบเรียนดนตรี มันเป็นเชิงบวก ค้นหาในสิ่งที่ตัวเองเรียนเจอ ค้นหาในสื่งที่รัก หรือสิ่งที่ชอบเจอ ไม่จำเป็นต้องซัฟเฟอร์แล้วTurning Point เราอยากรู้ว่าทำไมคุณตัดสินใจแบบนี้ ตอนแรกเราวางกลุ่มเป้าหมายที่จะไปสัมภาษณ์ มีตั้งแต่วัยเด็กจนถึงวัยผู้ใหญ่ เพื่อนำเสนอในหลากหลายมิติ นำเสนอในวัยเขาว่าทำไมเลือกเรียนแบบนี้ ผู้ใหญ่เจอวิกฤตอะไรทำไมถึงเปลี่ยนเส้นทางชีวิตและเลือกอาชีพนี้ หรือปัจจุบันที่สำเร็จ ทำไมมาอยู่ในจุดนี้ได้”
ธาดา เล่าถึงจุดเริ่มต้นและรูปแบบรายการทอล์คที่อาจจะสร้างแรงบันดาลใจในการเปลี่ยนเส้นทางชีวิตของหลาย ๆ คนได้ โดย” The Turning Point จุดพลิกคลิกโอกาส “ เป็นรายการทอล์ค 7 ตอน ความยาวตอนละ 30 นาที นำเสนอเรื่องราวชีวิตและการตัดสินใจสู่จุดเปลี่ยนของชีวิตจนคลิกกับโอกาสของแขกรับเชิญที่น่าสนใจทั้ง 7 คน ทั้งสจ๊วตที่ลาออกจากการบินไทยในช่วงโควิด-19 ผู้กำกับละครเวทีที่เปลี่ยนมาทำคอร์สเทรนนิ่งให้บริษัทต่าง ๆ ศิลปินภาพประกอบสู่ผู้บริหารวงการแอนิเมชั่น นักออกแบบที่เปลี่ยนมาเป็นนักคิดเปลี่ยนโลก หรือแม้แต่นักเขียนบทละครชื่อดังที่กลายมาเป็นอินทีเรียดีไซน์มืออาชีพได้อย่างน่าอัศจรรย์
“The Turning Point จุดพลิกคลิกโอกาส ทั้ง 7 ตอน นำเสนอในเฟซบุ๊กและยูทูบ “The Turning Point จุดพลิกคลิกโอกาส” ได้รับความสนใจจากผู้ชมเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะเป็นรายการทอล์คที่ดูได้สบาย ๆ แต่เต็มไปด้วยคมความคิดและการเปลี่ยนชีวิตของแขกรับเชิญที่หลากหลาย ซึ่งอาจจะทำให้คนที่ได้ชมพบกับจุดพลิกและคลิกกับโอกาส ในการเปลี่ยนเส้นทางชีวิตให้ลงตัวและมีความสุขมากขึ้นกว่าเดิมก็เป็นได้
.
#กองทุนสื่อ #TheTurningPointจุดพลิกคลิกโอกาส
#เล่าสื่อกันฟัง #บทความเล่าสื่อกันฟัง
#ผลงานผู้รับทุนกองทุนสื่อ
#สื่อสร้างสรรค์เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม
#กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
ความเห็นล่าสุด