“ต้องไปเอ็นท์ใหม่ แต่เราอายุเกือบ 30 แล้ว เราก็รู้สึกว่าเราไม่พร้อมจะไปเอ็นท์ใหม่ โอเค ชาติหน้าเดี๋ยวเราค่อยเป็นสถาปนิกละกัน ทนต่อไป งานที่เราไม่ชอบ สุดท้ายพอปีที่2 ความรู้สึกนั้นมันกลับมา สุดท้ายแล้วไปเสิร์ทมาเจอว่า จริง ๆ มันมีนะ ที่ที่ให้เราไปเรียน โดยที่เราไม่ต้องเอ็นท์ใหม่”
ฉัตรารัศน์ แก้วมรกต อดีตนักข่าวสาวและนักเขียนนวนิยาย เล่าความรู้สึกนาทีที่ตัดสินใจพลิกชีวิตเข้าสู่โลกอาชีพของมัณฑนากร งานที่ทำให้เธอพึ่งค้นพบความสุขในการเรียนรู้และการทำงานในวัยเกือบ 30 ปี หลังที่เธอเรียนจบและเริ่มต้นทำงานเป็นนักข่าวหนังสือพิมพ์มานานถึง 5 ปี แต่ในระหว่างนั้นเธอรู้สึกว่าเส้นทางที่เลือกเดินบนอาชีพนี้ กลับไม่ใช่สิ่งที่เธอชอบหรือทำแล้วมีความสุข ยิ่งมองอนาคตผ่านรุ่นพี่ที่ต้องก้าวไปเป็นบรรณาธิการและหัวหน้านักข่าว ยิ่งทำให้เธอรู้ใจตัวเองแน่ชัดว่าไม่อยากไปต่อบนถนนสายนี้
นั่นทำให้ช่วงที่เป็นนักข่าว นอกเวลางานเธอต้องใช้เวลาหาวิธีผ่อนคลายด้วยการเขียนนวนิยาย จนได้ตีพิมพ์ และหลายเรื่องกลายเป็นละครชื่อดังทางจอทีวี ทั้งแอบรักออนไลน์ สี่หัวใจแห่งขุนเขา สุภาพบุรุษจุฑาเทพ ต้นรักริมรั้ว 365วันแห่งรัก และอีกหลายเรื่อง ขณะที่ความรู้สึกไม่มีความสุขในการทำงานยิ่งเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนตัดสินลาออกไปทำงานด้านพีอาร์ แต่ความรู้สึกในใจกลับแย่กว่าเดิม
“เดินมาถึงทางตัน เดินกลับบ้านร้องให้เลยนะ รู้สึกมันไม่มีความสุขในชีวิตมาก ๆ ตื่นขึ้นมาก็ไม่อยากไปทำงาน เราเรียนนิเทศมา ไม่ชอบงานด้านนี้เลย เราก็เลยกลับมาถามตัวเองอีกครั้งว่าเราชอบอะไร ช่วงที่เป็นนักข่าวพอเรารู้สึกไม่มีความสุข เราพยายามหาทางหนี หาทางออก ทางหนีของเราก็คือนอกเวลาเรียนนอกเวลางานเราก็เขียนนิยาย นิยายเรื่องแรกได้ตีพิมพ์ตอนทำหนังสือพิมพ์ปีที่2 มันเป็นความสุขของเรา มันไม่ได้อยู่กับการทำงานตอนเช้าและกลับมาตอนเย็น”
เธอยอมรับ แม้จะเขียนนิยายแล้วมีความสุข แต่ต้องใช้วัตถุดิบและพลังอย่างมากในการเขียน และเริ่มมีโจทย์และข้อจำกัดมากขึ้น ทำให้เธอต้องกลับมาถามใจตัวเองอีกครั้ง ด้วยความชอบการเขียนและการวาดรูป ทำให้เธอมุ่งเป้าไปที่การเป็นสถาปนิกและมัณฑนากรอย่างที่ใฝ่ฝัน หลังค้นข้อมูลพบมีสถาบันที่รับสอนโดยไม่ต้องเอ็นทรานซ์ใหม่ เธอจึงก้าวสู่โลกของการเรียนออกแบบอยู่ 2 ปี และได้รับทุนไปเรียนที่อิตาลีอีก 1 ปี จนกลับมาพร้อมกับความกลัว หากต้องก้าวสู่การเป็นมัณฑนากรมืออาชีพ
“เราบอกกับตัวเองว่า โลกแห่งความเป็นจริงแล้วนะ เราต้องตัดสินใจแล้วนะว่าเราจะกลับไปทำสิ่งที่เราเคยทำมาไหม มี 2 ทางจะเอายังไง หลายคนที่เรียนมาด้วยกันตัดสินใจจะกลับไปทำงานเดิม ถ้าเราคิดว่าเราจะเปลี่ยนสายงาน เราจะนับหนึ่งใหม่ กลับมาเรามีความกลัวมาก ๆ เลย อยู่นั่ง ๆ นอน ๆ ประมาณ 2 ปี เขียนนิยายอย่างเดียว แล้วก็รู้สึกว่าไม่กล้าไปสมัครงาน เขาจะมองยังไง มีแต่พอร์ตไป แต่ว่าประสบการณ์ทำงานบริษัทไม่มี กลัวว่าเราไปนับหนึ่งใหม่มันจะโอเคไหม”
สุดท้าย ฉัตรารัศน์ ได้รับโอกาสจากรุ่นพี่ให้ไปสมัครงานบริษัทเพื่อน และก้าวสู่อาชีพมัณฑนากรสำเร็จ โลกที่ยังมีเรื่องราวต่าง ๆ ให้เธอได้เรียนรู้อีกมากมาย แต่ด้วยใจรักไม่มีอะไรที่เธอต้องหวาดหวั่น พร้อมจะเรียนรู้และพิสูจน์ฝีมือการทำงานจนได้รับการยอมรับบนถนนสายนี้
เรื่องราวของ ฉัตรารัศน์ เป็น 1 ใน 7 แขกรับเชิญในการโครงการ “The Turning Point จุดพลิกคลิกโอกาส รายการทอล์คซึ่งเป็นเรื่องราวที่ ธาดา ราชกิจ มือทำโฆษณา หัวหน้าโครงการและผู้ผลิตรายการนี้ ชื่นชอบมากที่สุดตอนหนึ่ง
“ตอนที่ชอบมากที่สุด คือตอนสุดท้าย เป็นเรื่องราวของคนที่เป็นนักข่าวนักเขียนละครชื่อดังมาก และเป็นพีอาร์มาก่อน แต่ปรากฏว่างานที่ทำอยู่มันไม่ใช่สิ่งที่เขาชอบเลย เขาก็ไปเรียนอินทีเรียดีไซน์เพิ่ม จนกระทั่งตอนนี้ได้ทำงานเป็นอินทีเรียดีไซน์ให้กับบริษัทต่างประเทศ เคสนี้เขามีจุด Turning Point ที่ชัดเจนมาก ๆ ตอบโจทย์ความเป็นรายการของเราได้มากที่สุด เขาเปลี่ยนจากสายเขียนบทละคร มาทำงานอินทีเรียดีไซน์แบบมืออาชีพได้ เขาใช้เวลาเป็น 10 ปี กับการมาเริ่มนับหนึ่งใหม่ เพื่อทำในสิ่งที่ชอบ เรื่องราวของเขามีหลายมิติที่น่าสนใจมาก”
ธาดา หัวหน้าโครงการผลิตรายการนี้เล่าด้วยความภูมิใจเมื่อพูดถึงรายการทอล์คตอนที่ชื่นชอบที่สุดในโครงการนี้ รวมทั้งแขกรับเชิญอีก 6 คน ซึ่งมีเรื่องราวและจุดพลิกในชีวิตที่น่าสนใจแตกต่างกันออก ทั้งสจ๊วตที่ลาออกมาเป็นพ่อครัวขนมไทย ผู้กำกับละครเวทีที่เปลี่ยนมาทำคอร์สเทรนนิ่งบุคลิกภาพให้บริษัทต่างๆ และนักออกแบบที่กลายเป็นนักคิดเปลี่ยนโลก โดยรายการ “The Turning Point จุดพลิกคลิกโอกาส ทั้ง 7 ตอน มีความยาวตอนละ 30 นาที ได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ประเภทเปิดรับทั่วไป ประจำปี 2564 เผยแพร่ทางยูทูบและเฟซบุ๊ก “The Turning Point จุดพลิกคลิกโอกาส” ซึ่งได้รับความสนใจอย่างมาก รายการที่อาจจะสร้างแรงบันดาลใจให้คุณได้ค้นพบเส้นทางชีวิตและคลิกกับโอกาสใหม่ ๆ ให้มีความสุขกับการใช้ชีวิตบนโลกนี้ ในทุก ๆ วัน ได้มากขึ้น
#กองทุนสื่อ #TheTurningPointจุดพลิกคลิกโอกาส
#เล่าสื่อกันฟัง #บทความเล่าสื่อกันฟัง
#ผลงานผู้รับทุนกองทุนสื่อ
#สื่อสร้างสรรค์เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม
#กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
ติดตาม “กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์” ได้ที่
Website : www.thaimediafund.or.th
Facebook : กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
Youtube : www.youtube.com/c/ThaiMediaFund
Line Official : @thaimediafund
ความเห็นล่าสุด