
รอเธอ…แต่เพียงคนนี้
ตราบชั่วกาลนิรันดร์
จะเนิ่นนานเท่าไรไม่เคยเปลี่ยน
รอเธอ…อยู่ที่ตรงนี้
หากคราใดเธอหันมองมา
ก็จะเจอว่ามีความรักรออยู่…
เนื้อร้องบางช่วงบางตอนของมิวสิควีดีโอเพลง “ซ่อน” ที่ขับร้องโดย ปู BlackHead ศิลปินร็อกชื่อดัง หากฟังผิวเผินอาจเข้าใจได้ว่าเป็นเพลงรัก ที่บรรยายถึงความในใจที่ซ่อนอยู่ตรงนี้ตลอดสองร้อยปี แต่จริง ๆ แล้ว ยังมีอีกนัยยะสำคัญที่ซ่อนอยู่ นั่นก็คือ ความพยายามที่จะบอกให้คนมาดูของดีที่ซ่อนอยู่ในวัดโพธิ์ ชูพล ศรีเวียง (วิเศษนิยม) ผู้แต่งคำร้องและทำนอง เล่าถึงไอเดียและที่มาของเพลงนี้ว่า ได้แรงบันดาลใจมาจาก “โคลงรวงผึ้ง” พระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ถอดรหัสมาจากโคลงกลบทวัดโพธิ์ Decoding of UNESCO’s memory of the World

“ผมเล่าเรื่องว่าเมื่อ 200 ปีก่อน มันมีความลับซ่อนอยู่ที่วัดโพธิ์ เป็นความรักระหว่างสองหัวใจ มาจากโคลงรวงผึ้ง เป็นบทกลอนที่แต่งให้กับคนรัก ตัดพ้อผู้หญิงคนหนึ่ง เนื้อหาของเพลงมันจึงล้อกับไอเดียนี้ ว่าฉันรักเธอด้วยหัวใจ เธอรักฉันหรือเปล่า ถ้าเกิดเธอรับรู้ได้ เธอก็จะรู้ว่าความรักของฉันมันซ่อนอยู่ที่ตรงนี้นะ ผมรู้สึกว่าความหมายตรงนี้มันแจ็กพอตเลย เนื้อหาเพลงก็พูดเรื่องนี้พอดี เป็นการนำเสนอแบบฉาบๆ ไว้ด้วยเรื่องความรัก จึงเป็นเพลงที่มีทั้งความเข้าใจโดยตรง และมีนัยยะที่ซ่อนอยู่”
นอกจาก “โคลงรวงผึ้ง” ที่ปรากฏในช่วงท่อนแร็พทำนองเสนาะของมิวสิควีดีโอเพลงนี้แล้ว ยังมีโคลงกลบทวัดโพธิ์ อีก 37 กล ที่บันทึกอยู่บนศิลาจารึกวัดโพธิ์ ประดับไว้ที่เสาพระระเบียงชั้นนอก ทิศเหนือ ทิศตะวันออก และทิศใต้ รอให้ผู้ค้นเข้ามาถอดรหัสถอนกลค้นพบความหมายที่ซ่อนอยู่ แต่ด้วยจารึกที่มีอายุกว่า 200 ปี ตัวอักษรบางส่วนเริ่มจางหาย และอาจเข้าใจความหมายได้ยาก หากถอดรหัสไม่เป็น ชูพล ศรีเวียง และทีมงาน ซึ่งมีความชื่นชอบประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรมของวัดโพธิ์ และได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ประเภทเชิงยุทธศาสตร์ ประจำปี 2565

อยากให้ผู้คนรุ่นใหม่เข้าถึงและเข้าใจได้ง่ายขึ้น จึงผุดไอเดียผลิตสื่อ จำลองโคลงกลบทวัดโพธิ์มาไว้บนโลกออนไลน์ ถ่ายทอดผ่านเทคโนโลยี แสดงการถอนกลด้วย Motion Graphic ประกอบเสียงขับร้องทำนองเสนาะ จัดแสดงเป็นนิทรรศการเสมือนจริงบนMetaverse ในชื่อ “เดอะ วัดโพธิ์เอ้ม โค้ด ถอดรหัสโคลงกลบทมรดกโลกสู่สากลบนจักรวาลเสมือน” ให้ชาวไทยและชาวต่างชาติมีโอกาสได้ชมศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญาเก่าแก่ของบรรพบุรุษไทย ที่เก็บซ่อนไว้ ได้จากทุกที่ทั่วโลก โดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องเวลาและสถานที่
“เราออกแบบและผลิต Virtual Exhibition สร้างภาพจำลอง 3 มิติ ด้วยสถาปนิกที่มีความชำนาญด้านสถาปัตยกรรมไทย และมีความรู้ความเข้าใจในการสร้างแบบ 3 มิติ บน Metaverse โดยดึงองค์ประกอบหลักของความเป็นสถาปัตยกรรมไทยของวัดโพธิ์อย่างซุ้มประตู ลั่นถัน และพระระเบียงมานำเสนอให้ร่วมสมัย เพื่อจำลองบรรยากาศการแสดงจารึกโคลงกลบทวัดโพธิ์ ให้เสมือนได้มาเดินชมที่วัดโพธิ์ด้วยตัวเองจริง ๆ”
ในผลงาน “เดอะ วัดโพธิ์เอ้ม โค้ด ถอดรหัสโคลงกลบทมรดกโลกสู่สากลบนจักรวาลเสมือน” นอกจากมีมิวสิควีดีโอเพลง “ซ่อน” ที่เป็นเสมือนแม็กเน็ตเชิญชวนให้ผู้คนสนใจ อยากเข้ามาชมการถอดรหัสโคลงกลบทวัดโพธิ์แล้ว ยังมีการนำเสนอคลิปโคลงกลบทวัดโพธิ์อีก 25 กล ความยาวคลิปละ 1 นาที เผยแพร่ทาง ติ๊กต็อก ยูทูบ ยูทูบรีล เฟซบุ๊ก เฟซบุ๊กรีล และอินสตราแกรม และสุดท้ายจะรวบรวมทั้งหมดไปเก็บไว้ในเว็ปไซต์ และVirtual Exhibition บน Metaverse

ผลงานซอฟต์พาวเวอร์ชุดนี้ใช้เวลาผลิตเกือบ 1 ปี นอกจากทีมงานต้องศึกษาข้อมูลเชิงลึกจากผู้เชี่ยวชาญด้านจารึกและวรรณกรรมแล้ว ยังมีประเด็นท้าทายอีกหลายเรื่อง ทั้งความยากในการผลิตและจัดแสดงนิทรรศการเสมือนจริงบนMetaverse ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ใหม่มาก ต้องทดลองกันอยู่หลายรอบ กว่าที่ทุกอย่างจะลงตัวและออกมาสมบูรณ์แบบตามที่ต้องการ ส่วนขั้นตอนการออกแบบก็ต้องอาศัยสถาปนิกที่ชำนาญเรื่องการบูรณะโบราณสถานตามวัด แต่ความเหนื่อยยากเหล่านี้ก็หายเป็นปลิดทิ้ง เมื่อได้เห็นฟีดแบคที่ดีเกินความคาดหมาย
“ฟีดแบคดีมาก โดยเฉพาะในติ๊กต็อก ที่มียอดรับชมมากว่า 1 ล้าน 4 แสนวิว บางคนบอกว่า โอ้โห อะไรจะเลิศขนาดนี้ ขอกราบบรรพบุรุษไทย บางคนบอกว่า เกิดมาเพิ่งเคยได้ยิน ช่องนี้เปิดโลกวัฒนธรรมทางภาษามาก ๆ เราดีใจที่ผู้รับสารเข้าใจในแบบเดียวกับสิ่งที่เราต้องการสื่อสาร มันดีมากเลย มีคนเข้ามาชื่นชมเยอะมาก เช่น ขอบคุณมาก ได้เห็นกลอนในรูปแบบหลากหลายจากช่องนี้เลย คนโบราณเก่งมาก ๆ เจ้าของช่องก็เก่งมากเช่นกัน บางคนถึงขั้นตัดพ้อ บอกว่า น่าเสียดาย ตอนเรียนทำไมไม่มีสื่อแบบนี้”
นอกจากความสุขและความภาคภูมิใจของทีมผู้ผลิต “เดอะ วัดโพธิ์เอ้ม โค้ด” ที่ได้สืบทอดมรดกทางวัฒนธรรมแล้ว พวกเขาก็อยากเห็นคนไทยมีความสุขกับการได้รับรู้และชื่นชมจารึกโคลงกลบทวัดโพธิ์ อายุเก่าแก่กว่า 200 ปี ที่ไม่ได้เป็นเพียงแค่มรดกชาติ แต่เป็นมรดกของโลกที่ทรงคุณค่า และควรช่วยรักษาต่อยอดให้คงอยู่ตลอดไป
ความเห็นล่าสุด