เลือกหน้า

“หอม” อาจจะเป็นเรื่องของกลิ่น แต่ความหอมของสารคดีชุดในชื่อ “หอมกลิ่นดอย” ที่จัดทำโดยโครงการ
หอมกลิ่นดอยนั้น ได้พัดพาความหอมหลากกลิ่นบนพื้นที่สูงของภาคเหนือในประเทศไทย มาแตะจมูกและนำไปสู่ภาพธรรมชาติของดอยสูง วิถีชีวิตของผู้คน วัฒนธรรมประเพณี ภาษา การทำมาหากิน อาหาร ฯลฯ และทุกเรื่องทุกตอนในสารคดีนั้นมีกลิ่นรวมที่เรียกว่า กลิ่นดอยที่หอมฟุ้ง ระหว่างดูนั้นมีอยู่จริง คุณ “อริสรา กำธรเจริญ” หัวหน้าโครงการหอมกลิ่นดอย บอกเล่าถึงสาเหตุของที่มาของสารคดีชุดนี้ไว้ว่า เนื่องจากความคิดที่อยากจะทำหน้าที่บอกเล่ารวมถึงการเก็บบันทึกวิถีชีวิตของผู้คน คนเล็กคนน้อย ที่มีความพิเศษ มีอัตลักษณ์ ความสวยงามของธรรมชาติแวดล้อม การปกปักรักษา การอยู่ร่วมกันของคนกับป่ากับธรรมชาติ ในวิถีคนดอยสูง เธอจึงคิดอ่านจัดทำสารคดีชุดนี้ขึ้น จากการสนับสนุนของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

ความหอมครั้งนี้ ไม่ใช่สารคดีที่นำเราไปสู่ความหอมเป็นครั้งแรก แต่คุณ “อริสรา กำธรเจริญ” เคยได้พาคนดูไปร่วมรับกลิ่นหอมของทะเลในภาคใต้ของไทยมาแล้วครั้งหนึ่ง จากการสนับสนุนของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เช่นเดียวกัน และความหอมในครั้งนั้นมีชื่อว่า “หอมกลิ่นเล” ครั้งนั้นสารคดีพาผู้ชมไปพบกับทะเลภาคใต้ เกาะแก่งสำคัญ พื้นที่ทางธรรมขาติที่สำคัญ วิถีประมงพื้นบ้าน การดูรักษาทรัพยากรธรรมชาติ ความหอมครั้งนั้นจึงเป็นแรงบันดาลใจในครั้งนี้ เป็นแรงบันดาลใจให้คุณอริสรา เลือกที่จะพาผู้ชมผู้ฟัง ไปเห็นภาพที่ประกอบกลิ่นหอมอีกครั้ง ในพื้นที่ภาคเหนือบนดอยสูงของประเทศไทย และเล่าถึงความยากลำบากของการถ่ายทำซึ่งมีไม่น้อย ตั้งแต่ฝน เส้นทางยากลำบาก หรือเรื่องภาษาที่ต้องทำความเข้าใจกันและกัน ในบางฉากบางบทที่ยังไม่สวยและไม่สื่อได้ครบถ้วนดังใจ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องขึ้นไปถ่ายใหม่ ซึ่งนับเป็นอุปสรรคหนึ่งระหว่างถ่ายทำสารคดีหอมกลิ่นดอยนี้

อุปสรรคและความเหนื่อยล้าก็ถูกผ่อนคลายไปไม่น้อย เมื่อพบธรรมชาติตรงหน้า เมฆหมอกสลับขุนเขาความเขียว น้ำมิตรไมตรีของชาวบ้าน อาหารที่อร่อยล้ำ ยังไม่ได้นับรวมงานสารคดีที่ออกมาเป็นที่น่าพอใจ ทั้งภาพและเรื่องเล่า คุณอริสรา เล่าว่าเจอสิ่งเหล่านี้ระหว่างการทำงาน ทีมงานก็ได้รับการชาร์จแบตไปด้วยในตัวแล้วเช่นกัน ในสารคดีผู้ชมคนดูจะได้พบกับวิถีชีวิตของคนบนพื้นที่สูง ในฐานะของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ อย่าง ปกาเกอะญอ ลีซู อาข่า เป็นวิถีชีวิตที่สารคดีชุดนี้ไม่ต้องสรุปให้เห็น แต่เมื่อดูก็รู้ได้ทันทีว่านี้คือวิถีชีวิตที่สอดคล้องลงตัวในแง่ของการใช้ชีวิตร่วมกับทรัพยากรธรรมชาติอย่างปกปักรักษา ซึ่งสิ่งนี้นับเป็นคุณค่าที่เธออยากบอกกับคนในสังคมผ่านเรื่องราวหอมๆนี้ อยากเห็นสิ่งเหล่านี้ถูกนำขยายผล ในฐานะของซอฟต์เพาเวอร์ อย่างข้าวปลาอาหารบนดอย หรือแม้แต่ เสื้อผ้า เครื่องประดับ ที่มีทั้งเอกลักษณ์และสามารถสร้างสรรค์ออกแบบให้ขยายสู่วงกว้างได้มากขึ้นไปอีก ซึ่งทางทีมงานได้จัดงานตลาดย่อมๆในเมืองขึ้นมา และนำข้าวปลาอาหาร ผลิตภัณฑ์จากคนบนดอยมาให้คนในเมืองได้ลิ้มรสชาติ ได้พบเห็น ปรากฎว่า ข้าวของบ่งชี้ทางวัฒนธรรมเหล่านี้ได้รับความสนใจอย่างล้นหลาม และแน่นอนจึงเป็นที่มาของความมั่นใจได้ว่า นี่คือซอฟต์เพาเวอร์อีกหนึ่งอย่างที่ประเทศไทยนี้มีอยู่

ติดตามรับชมรายการ หอมกลิ่นดอย ได้ที่
Facebook : The Discoverer