ด้วยความเป็นคนใต้ของ “คุณศศิธร วงศาริยะ” มโนราห์เป็นสิ่งหนึ่งที่ได้ผ่านหูผ่านตา ในช่วงชีวิตที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ปลายด้ามขวาน มโนราห์ที่เธอพบเห็น ในตอนนั้นเธอรู้จักเพียงแค่ว่านี่คือ การแสดงหนึ่งอยู่คู่กับภาคใต้มาอย่างยาวนาน แต่ข้อสังเกตหนึ่งที่มีกับมโนราห์ นั้นคือ มโนราห์ มันอยู่ในวิถีชีวิตของคนใต้ คนใต้ไม่ได้แยกห่างไปจากมโนราห์สักเท่าไหร่ ทั้งลูกเล็กเด็กแดง คนหนุ่มคนสาว ผู้เฒ่าผู้แก่ ต่างมีความเกี่ยวพันกับมโนราห์ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ตั้งแต่การดูชม จัดจ้างมาแสดง จนถึงการเข้าร่วมอยู่ในวงมโนราห์ ที่สำคัญมโนราห์นั้นมีคุณค่าอย่างไม่อาจปฏิเสธได้จาการที่มโนราห์ถูกยกเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของโลกจากยูเนสโก้
จากข้อสังเกต จากการได้ผ่านหูผ่านตา ความเป็นมรดกทางวัฒนธรรม ตลอดจนความเป็นคนใต้ และด้วยตัวตนของความเป็นคนทำสื่อ คุณ ศศิธร วงศาริยะ จึงมีความตั้งใจที่จะถ่ายทอดเรื่องราวของมโนราห์ให้ได้เป็นที่รู้จักในสังคมวงกว้าง และ “โครงการมโนราห์ คุณค่าไทยสู่สากล” โดยการสนับสนุนของ “กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์” จึงเริ่มต้นขึ้น ในช่วงรวบรวมข้อมูลก่อนถ่ายทำสารคดี พบความน่าสนใจของมโนราห์ที่มากไปกว่าที่เธอเคยพบเห็นมา มโนราห์ที่ค้นพบระหว่างรวบรวมข้อมูลและการถ่ายทำ คุณศศิธรได้พบว่า มโนราห์ใช่เพียงเป็นการแสดง แต่เป็นทั้งเรื่องความเชื่อพิธีกรรม เป็นเรื่องของวิถีชีวิต เป็นเรื่องของศิลปะความประณีตที่อยู่ในมิติต่าง ๆของมโนราห์ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องแต่งกายตั้งแต่หัวจรดเท้า หรือเนื้อเรื่องที่แสดง
ในด้านของข้อมูลข้อเท็จจริง ทั้งในระหว่างรวบรวมข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูล การเขียนบท การถ่ายทำออกมาในแต่ละตอน ทางโครงการมโนราห์ คุณค่าไทยสู่สากล ได้มีที่ปรึกษามาให้คำปรึกษาอยู่ในทุกขั้นทุกตอนของการผลิตสารคดี ด้วยเหตุผลที่ว่าในการผลิตสารคดีเรื่องนี้ ความท้าทายที่ทางคุณศศิธรคิดว่าเป็นเรื่องใหญ่นั้นมีอยู่ 2 เรื่องด้วยกัน 1 ใน 2 เรื่องนั้น คือเรื่องของข้อมูล แต่เมื่อได้อาจารย์ ธรรมนิตย์ นิคมรัตน์ ครูมโนราห์และศิลปินแห่งชาติ มาช่วยเป็นที่ปรึกษาและให้ข้อคิดเห็นตลอดการถ่ายทำสารคดี ทางโครงการเองก็เบาใจ แต่ความท้าทายที่มีอยู่อีก 1 เรื่องก็คือเรื่องของการจัดเวลาให้ตรงกับตัวแสดงในสารคดี คุณ ศศิธร ให้คำอธิบายเพิ่มเติมว่า ตัวแสดงหลักในสารคดีมโนราห์นั้น เป็นครูมโนราห์ ซึ่ง ทางโครงการอยากได้ภาพจากการแสดงจริง เราจึงต้องรอให้ครูมโนราห์แต่ละท่านนั้น มีคิวการแสดง ทางทีมงานถ่ายทำจึงออกไปเก็บภาพและสัมภาษณ์ครูมโนราห์ ดังนั้นเรื่องการจัดการเวลาจึงเป็นความท้าทายหนึ่งของโครงการไปด้วย
หลังจากที่สารคดีมโนราห์ได้ออกเผยแพร่เป็นที่เรียบร้อย ข้อค้นพบที่สร้างความประทับใจและคิดว่านี่คืออนาคตที่ยั่งยืนของมโนราห์ คุณศศิธรให้ความเห็นว่า ในการลงพื้นที่และถ่ายทำ ทางโครงการพบว่า มโนราห์มีการขยายตัวออกไปสู่วงกว้างที่ไม่จำกัดแค่คนในวงมโนราห์ คนในครอบครัวมโนราห์ มีเด็กตัวเล็กตัวน้อยหัดรำหัดเต้นมโนราห์จากความสนใจส่วนตัว เด็กในหลายหมู่บ้านที่มีวงมโนราห์อยู่นั้น มักพบว่าเด็กๆมักให้ความสนใจ เข้าไปเล่นเข้าไปคลุกคลีในวงอย่างสม่ำเสมอ และหลาย ๆ คนก็ตั้งใจว่าจะเป็นมโนราห์ให้ได้ในอนาคต
สอดคล้องกันดีกับที่มีหนุ่มสาวหลายคนสืบทอดศิลปะวัฒนธรรมนี้ และใช้มโนราห์เป็นอาชีพหนึ่งในการหารายได้ ถึงแม้ว่ามโนราห์จะไม่ใช่อาชีพที่หารายได้มาได้มากมายนัก แต่มันก็พอที่จะนำพามาสู่การเลี้ยงดูตัวเองและครอบครัวได้เช่นกัน รวมถึงอาชีพการเป็นมโนราห์คนรุ่นเก่าจนถึงรุ่นใหม่นั้น ยังถือว่าเป็นอาชีพที่มีเกียรติมีศักดิ์ศรีอยู่ไม่ขาดสาย นั้นนับเป็นค่านิยมที่ทำให้มโนราห์ยังสามารถอยู่ได้รอดต่อไปในอนาคตตามมุมมองของคุณศศิธร ความประทับใจสุดท้ายที่ทางคุณศศิธรบอกเล่านั้นคือ การทำสารคดีมโนราห์ชุดนี้ สารคดีพาให้เธอได้กลับไปสู่รากเหง้าของตัวเอง และคราวนี้มโนราห์ไม่ใช่แค่เรื่องผ่านตา แต่มันเป็นเรื่องราวที่เข้าไปอยู่ในใจคุณศศิธรเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ติดตามรับชมรายการ มโนราห์ คุณค่าไทยสู่สากล ได้ที่
YouTube : มโนราห์ คุณค่าไทยสู่สากล
ความเห็นล่าสุด