ในวันที่นัดสัมภาษณ์ คุณ “ณัฐโฆษิต ศรีธำรงวัชร์” หัวหน้าโครงการค้อน กรรไกร กระดาษ (ภาพยนตร์ขนาดกลาง เรื่องราวของคนหูหนวกถ่ายทอดผ่านลูกที่เป็นคนหูดี) วันนั้น คุณ ณัฐโฆษิต ไม่ได้เป็นผู้รับสายเอง แต่เป็นผู้ช่วยของคุณณัฐโฆษิต ซึ่งในครั้งนั้นผู้ช่วยก็อธิบายว่าคุณ ณัฐโฆษิต เป็นคนหูหนวกซึ่งต้องมีล่ามช่วยสื่อสาร ในวันสัมภาษณ์จริงผ่านวีดีคอล ล่ามที่เป็นทั้งผู้ใช้ภาษามือสื่อสารกับคุณณัฐโฆษิต และใช้ภาษาพูดเพื่อสื่อสารกับคนสัมภาษณ์ คุณณัฐโฆษิตเองพยายามอย่างมากที่จะเล่าถึงตัวภาพยนตร์ค้อน กรรไกร กระดาษ ที่ได้ดำเนินการสร้างไปแล้วภายใต้การสนับสนุนของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ล่ามที่เป็นผู้แปลภาษามือและภาษาพูดก็พยายามอย่างเต็มที่ที่จะทำหน้าที่เป็นคนกลางสื่อสารให้ตรงกับที่ทั้งสองฝ่ายต้องการ คนสัมภาษณ์เองก็ตั้งใจที่สุดที่จะรับฟังจับประเด็นและนำมาเขียนบอกเล่าเรื่องราวของภาพยนตร์เรื่องนี้จากมุมมองของหัวหน้าโครงการเอง
สิ่งที่เกิดขึ้นข้างต้นเป็นประเด็นเดียวกันที่เกิดขึ้นในภาพยนตร์เรื่อง “ค้อน กรรไกร กระดาษ” ภาพยนตร์ที่เล่าเรื่องถึงปัญหาหาความสัมพันธ์ภายในครอบครัวที่เกิดขึ้นจากปัญหาการสื่อสารกันในครอบครัวที่คนเป็นพ่อเป็นคนหูหนวกแม่เป็นคนหูหนวก ซึ่งอยู่กับลูกสาวสองคน คนเล็กมีแนวโน้มที่จะหูหนวก และครอบครัวพึ่งสูญเสียคนเป็นแม่ไป และนั้นเป็นสาเหตุที่ทำให้คนเป็นพ่อมีภาวะซึมเศร้าเกิดขึ้น ภาวะซึมเศร้าที่เกิดขึ้นกับคนเป็นพ่อก็ไม่ง่ายที่จะบอกกับใครว่าตัวเองนั้นมีปัญหาทางใจเรื่องอะไร ไม่ง่ายที่จะปรับทุกข์กับใคร ไม่ง่ายเลยเมื่อความซึมเศร้านั้นเกิดขึ้นกับคนหูหนวก ในคนที่ไม่ใช่คนหูหนวกที่มีภาวะซึมเศร้าก็มีความยากลำบากไม่น้อยแล้วที่จะเอ่ยปากปรึกษาหรือหาคนมาเข้าใจ ในกลุ่มคนหูหนวกเมื่อมีภาวะซึมเศร้ายิ่งยากลำบากเข้าไปอีกเป็นเท่าตัว เมื่อการสื่อสารการบอกความทุกข์ใจเป็นเรื่องที่ใช้พลังงานอย่างมากอยู่แล้ว และยิ่งอยู่ในภาวะซึมเศร้าที่ทำให้พลังงานในการใช้ชีวิตลดทอนลงไปอีกนั้น ความยากลำบากในการสื่อสารเล่าความทุกข์ในใจของพวกเขายิ่งลำบากขึ้นอีกเป็นทวีคูณ
คุณ ณัฐโฆษิต เล่าว่า คิดว่าประเด็นภาวะซึมเศร้าของคนหูหนวกนี้นับเป็นประเด็นสำคัญ เป็นประเด็นที่ถูกละเลย คนหูหนวกหลายคนที่พบนั้นมักมีภาวะซึมเศร้า และตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกับภาพยนตร์เรื่องค้อน กรรไกร กระดาษ และนั้นนับเป็นที่มาให้เกิดโครงการค้อน กรรไกร กระดาษฯ เพื่อที่จะสะท้อนประเด็นดังกล่าวขึ้นมาเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่สังคม ครอบครัว หรือแม้ตัวคนหูหนวกเอง ควรให้ความสนใจใส่ใจและนำไปสู่การช่วยกันดูแลรักษาภาวะซึมเศร้าที่เกิดขึ้นต่อไปโดยผ่านรูปแบบของภาพยนตร์ ซึ่งคุณ “ณัฐโฆษิต ศรีธำรงวัชร์” เชื่อว่า ภาพยนตร์จะบอกเล่ารูปธรรมของปัญหาความซึมเศร้าในคนหูหนวกได้อย่างดีที่สุด และไม่ใช่แค่ประเด็นเรื่องความซึมเศร้าในคนหูหนวกเท่านั้น ภาพยนตร์ยังมีประเด็นของความยากลำบากในการสื่อสารระหว่างคนหูหนวกกับคนหูปกติในเรื่องยากๆของชีวิตให้ได้ตระหนักร่วมกันไปอีกด้วย เช่น คนที่เป็นคนหูดีที่ได้ดูภาพยนตร์เรื่องนี้ มักบอกเล่าถึงความประทับใจต่อเนื้อหาของภาพยนตร์ หลายคนเมื่อดูแล้วบอกเล่าว่า เป็นประเด็นเป็นเรื่องราวที่นึกไม่ถึงว่าจะมีอยู่ อย่างความซึมเศร้าที่เกิดกับคนหูหนวก หรือ ประเด็นพ่อแม่ที่หูหนวกทั้งสอง และมีลูกที่เป็นคนหูปกติ หรือที่เรียกกันว่า CODA (Child of Deaf Adults) และเสียงบอกเล่าเดียวกันของผู้ชมคนดูที่หูปกติที่เน้นว่า การสื่อสารกันและกันจึงสำคัญ และสำคัญกว่านั้นอีกคือการใส่ใจเข้าไปในการสื่อสารของผู้รับและผู้ส่งสารนั้นเอง
.
ติดตามรับชมภาพยนตร์ค้อน กรรไกร กระดาษ ได้ที่
https://youtu.be/SQCAe2PiOg0?si=pr0-7OVqCQoL8PnW
ความเห็นล่าสุด