กองทุนพัฒนาสื่อฯ ร่วมกับ AFP จัดอบรมหลักสูตร Fact Checking ขั้นสูง สร้างทักษะการตรวจสอบข่าวปลอม หยุดผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ และความเสียหายของประเทศ ติวเข้มเครื่องมือและกระบวนการตรวจสอบ รู้เท่าทัน AI ที่มีพัฒนาการมากขึ้น หวังขยายผลส่งต่อประชาชนรู้เท่าทันข้อมูลเท็จ
(1-2 สิงหาคม 2567) กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ร่วมกับสำนักข่าว AFP (Agence France-Presse) จัดอบรมหลักสูตรการตรวจสอบข่าวลวง ข่าวปลอม ระดับสูง (Digital Investigation (Fact-Check) Training program : Advance Level) ณ โรงแรมแกรนด์ฟอร์จูน กรุงเทพฯ โดยมีสื่อมวลชนและภาคีเครือข่ายที่ผ่านการอบรมหลักสูตรดังกล่าวขั้นพื้นฐานจาก 4 ภูมิภาคทั่วประเทศเข้าร่วมอบรม
ดร.ชำนาญ งามมณีอุดม รองผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวว่า การอบรมหลักสูตรการตรวจสอบยืนยันข้อเท็จจริง หรือตรวจสอบข่าวปลอม (Fact Checking) ที่กองทุนพัฒนาสื่อฯ ร่วมกับ AFP จัดขึ้นนี้ แบ่งออกเป็นหลักสูตรระดับพื้นฐานและหลักสูตรขั้นสูง ซึ่งครั้งนี้เป็นการอบรมหลักสูตรการตรวจสอบข่าวปลอมขั้นสูง โดยผู้ที่เข้าร่วมอบรมทั้งหมดได้ผ่านการอบรมหลักสูตรขั้นพื้นฐานมาแล้ว ในช่วงเริ่มต้นของการดำเนินโครงการ พบว่าการแพร่ระบาดของข้อมูลข่าวสารที่เป็นเท็จ สร้างผลกระทบและความเสียหายในวงกว้าง ไม่เพียงแค่ทรัพย์สินแต่ยังส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ และความมั่นคงของประเทศ แม้จะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาทำหน้าที่คัดกรอง ตรวจสอบข่าวปลอม แต่ปริมาณข้อมูลข่าวสารที่เป็นเท็จก็ทวีจำนวนมากขึ้น ดังนั้น ประชาชนในสังคมยังขาดทักษะในการตรวจสอบข้อมูล หรือจำแนกได้ว่าข่าวสารใดไม่เป็นความจริง หลักสูตร Digital Investigation (Fact-Check) Training program : Advance Level เป็นหลักสูตรที่ให้ความรู้ แนะนำเครื่องมือ และวิธีการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลต่าง ๆ จะช่วยให้ผู้เข้าร่วมอบรมมีทักษะดังกล่าว และสามารถไปขยายผลความรู้ส่งต่อให้กับคนในสังคมต่อไปได้
“สิ่งสำคัญที่ได้รับการเพิ่มเติมในหลักสูตรคือการตรวจสอบสิ่งที่ AI หรือปัญญาประดิษฐ์สร้างขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ในกระแสสังคมออนไลน์ หลายครั้งมีการส่งต่อข้อมูลโดยไม่รู้ว่าถูกสร้างจาก AI ซึ่งเป็นอันตรายอย่างมาก เพราะคนในสังคมไม่สามารถแยกแยะได้ว่าไม่ใช่เรื่องจริง ดังนั้นทุกคนจึงควรมีทักษะการตรวจสอบข่าวปลอม และมีบทบาทในการช่วยกันตรวจสอบ เพื่อคัดกรองสิ่งที่ไม่เป็นความจริงออกไปจากสังคม ซึ่งกองทุนพัฒนาสื่อฯ เห็นว่าภาคประชาชนเป็นกำลังสำคัญในการร่วมกันสร้างสรรค์สื่อปลอดภัย จึงให้ความสำคัญกับการทำงานร่วมกับภาคประชาสังคม และคาดหวังว่าสิ่งที่ผู้ร่วมอบรมได้เรียนรู้ครั้งนี้ หากมีการนำไปขยายผลต่อ จะสร้างกระบวนการที่จะช่วยในการพัฒนาและตรวจสอบให้การนำเสนอข่าวอยู่บนข้อเท็จจริงได้อย่างมีประสิทธิภาพ สร้างระบบนิเวศสื่อที่ถูกต้อง เพื่อนำความจริงกลับคืนมาสู่สังคมไทย” รองผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อฯ กล่าว
Ms. Rachel Blundy Head of Fact Checking Asia Pacific, Agence France-Presse กล่าวว่า จากประสบการณ์การทำงานข่าวใน AFP กว่า 8 ปี พบว่าเมื่อมีข่าวใหญ่เกิดขึ้นจะมีข้อมูลเท็จเกิดขึ้นตามมาเสมอ การตรวจสอบข้อเท็จจริงที่โปร่งใส จนนำไปสู่การพิสูจน์ความจริงได้ จึงเป็นทักษะการตรวจสอบข่าวปลอมที่จำเป็นในโลกปัจจุบัน การจัดอบรมภายใต้ความร่วมมือของกองทุนพัฒนาสื่อฯ และ AFP ซึ่งดำเนินการมาถึง 9 ครั้ง ได้พยายามสร้างหลักสูตรที่ตอบโจทย์ความต้องการทักษะดังกล่าว เพราะข่าวปลอมมีการปรับเปลี่ยนข้อมูลมากขึ้นตามเวลาเช่นกัน เราจึงต้องปรับทักษะ และความรู้ให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของข้อมูลที่เกิดขึ้น เพื่อให้มีทักษะการตรวจสอบข่าวได้อย่างทันท่วงที โดยเฉพาะข้อมูลจาก AI ที่มีพัฒนาการขึ้นเรื่อย ๆ แต่ยังไม่มีเครื่องมือที่ใช้ตรวจสอบได้ 100% เราจึงต้องพัฒนาเครื่องมือ และกระบวนการตรวจสอบ โดยใช้งานร่วมกับทักษะการตรวจสอบ
ดั้งเดิม เพื่อตอบโต้ AI ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตนหวังว่าผู้เข้าร่วมอบรมจะได้รับความรู้และนำไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันได้ต่อไป
ความเห็นล่าสุด