เลือกหน้า

(5 ต.ค. 64) กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ชี้แจงแนวทางและหลักเกณฑ์การจัดสรรทุน สำหรับปีงบประมาณ 2565 พร้อมรับฟังความคิดเห็นจากผู้สนใจทุกคนเพื่อให้ได้มีโอกาสรับทุนสนับสนุนมากยิ่งขึ้น กับโครงการเวทีรับฟังความคิดเห็นเรื่องแนวทางและหลักเกณฑ์การจัดสรรทุน สำหรับปีงบประมาณ 2565 “TMF Public Hearing: Grants for Change 2022”

โดย ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ อธิบายภาพการจัดสรรทุนปี 2564 และ ชี้ทิศทางการเปิดให้ทุนปีงบประมาณ 2565 พร้อมเป็นเวทีรับฟังความคิดเห็นแนวทางและหลักเกณฑ์การจัดสรรทุน โดยมีนางวรินรำไพ ปุณย์ธนารีย์ รองผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์, ร้อยโท ดร.ธนกฤษฏ์ เอกโยคยะ รองผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และ ดร.ชำนาญ งามมณีอุดม ผู้เชี่ยวชาญ รักษาการแทนผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายและยุทธศาสตร์ เข้าร่วมงาน ซึ่งในเวทีรับฟังความคิดเห็น มีผู้สนใจเสนอโครงการ ร่วมระดมความคิดเห็นเป็นจำนวนมาก

ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวถึงการจัดสรรทุนปี 2564 ว่า

“ในปีนี้ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ได้เปิดรับข้อเสนอโครงการ 3 ครั้ง โดยแต่ละครั้งมีวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน โดยปี 64 นี้ เราเปิดรับข้อเสนอโครงการ 3 ครั้ง ได้แก่ ครั้งที่ 1 โดยยื่นขอผ่านระบบออนไลน์ ตั้งแต่ 20 มกราคม – 19 กุมภาพันธ์ 2564 สำหรับการจัดสรรทุนประจำปี 2564 วงเงินงบประมาณไม่เกิน 300 ล้านบาท แบ่งการให้ทุนออกเป็น 3 ประเภท ดังนี้ 1. การให้ทุนประเภทเปิดรับทั่วไป (Open Grant) วงเงินไม่เกิน 90 ล้านบาท 2. การให้ทุนประเภทเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Grant) วงเงินไม่เกิน 180 ล้านบาท และ 3. โครงการประเภทความร่วมมือ (Collaborative Grant) วงเงินไม่เกิน 30 ล้านบาท ครั้งที่ 2 กองทุนเปิดรับข้อเสนอโครงการหรือกิจกรรมประเภทผู้รับทุนเดิมยื่นขอผ่านระบบออนไลน์ตั้งแต่ 10 สิงหาคม – 9 กันยายน 64 วงเงินงบประมาณ 30 ล้านบาท ทุนประเภทนี้เป็นทุนที่มีลักษณะเป็นการขยายผลโครงการหรือกิจกรรมที่เคยได้รับการสนับสนุนจากกองทุน มาก่อนในระหว่างปี 2560 – 2563 ซึ่งดำเนินงานเสร็จสิ้นแล้ว และไม่มีภาระผูกพันตามสัญญาให้ทุนเดิม และครั้งที่ 3 กำลังเปิดรับข้อเสนอโครงการหรือกิจกรรมประเภทส่งเสริมและสนับสนุนเด็กและเยาวชน ซึ่งทุนประเภทนี้เพิ่งเปิดเป็นปีแรก โดยเปิดรับไปเมื่อ 29 กันยายน – 28 ตุลาคม 2564 วงเงินงบประมาณ 40 ล้านบาท

ซึ่งในปีหน้า 2565 ทางกองทุนจะเปิดรับข้อเสนอโครงการ โดยจะมีการปรับเวลาในการทำงานให้เร็วขึ้น เนื่องจากมีความเหลื่อมในเรื่องเวลาการทำงานระหว่างกองทุนสื่อกับ กสทช.อยู่ประมาณ 1 ไตรมาส เราจึงอยากเริ่มทำงานพิจารณาทุนตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนในปี 64 เพื่อจะได้สามารถตัดสินการให้ทุนทำงานกับผู้ขอทุนได้ตั้งแต่เดือนมกราคมปี 65 เป็นต้นไป”

นางวรินรำไพ ปุณย์ธนารีย์ รองผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวถึง

“หลักเกณฑ์ในการขอรับข้อเสนอโครงการ ของ ทุนประเภทเปิดรับทั่วไป จะมี

  1. ข้อเสนอต้องตอบสนองกับยุทธศาสตร์ของกองทุนสื่อ ที่มีความปลอดภัยและ สร้างสรรค์ (หรือเขียนให้ตอบโจทย์แนวทางของทุนแต่ละประเภท)
  2. มีการวางแผนที่ดี ทำให้กรรมการเชื่อว่าสามารถดำเนินงานตามแผนได้จริง มีแผนปฏิบัติงาน (Action plan) ที่ชัดเจน
  3. ต้องตอบได้ว่าโครงการของท่านมีผลกระทบเชิงบวกกับสังคมอย่างไรใน 1 ปีนั้น
  4. มีความความเหมาะสมของงบประมาณกับเนื้องานในโครงการ
  5. ควรเตรียมเครดิตการทำงานของผู้ขอทุนไว้ในการนำเสนอต่อกรรมการด้วย

ร้อยโท ดร.ธนกฤษฏ์ เอกโยคยะ รองผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เผย

“หลักเกณฑ์ในการเปิดรับข้อเสนอโครงการ ของทุนประเภทความร่วมมือ จะใช้หลักเดียวกับทุนอีกสองประเภท (เกณฑ์ 5 ประการ) โดยพิจารณาจากความเป็นไปได้ในการทำงานและความสอดคล้องของข้อเสนอ เช่น แผนดำเนินงานกับผลลัพธ์ของโครงการเป็นไปในทิศทางเดียวกัน และหากมีการใช้สื่อที่มีลิขสิทธิ์ในโครงการ ต้องมีการขออนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรมาแล้วให้เรียบร้อย”

ดร.ชำนาญ งามมณีอุดม ผู้เชี่ยวชาญ รักษาการแทนผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายและยุทธศาสตร์ กล่าวว่า

“หลักเกณฑ์ในการเปิดรับข้อเสนอโครงการ ของทุนประเภทยุทธศาสตร์ เป็นการคิดตรงข้ามกับทุนแบบทั่วไป เพราะผู้ขอทุนต้องสนใจในประเด็นทางสังคมที่ต้องการให้เกิดความเปลี่ยนแปลง และดูจากคุณสมบัติของผู้ขอทุนเป็นหลัก อาทิเช่น เป็นผู้ที่มีความเข้าใจ มีความคุ้นเคย คุกคลีกับกลุ่มเป้าหมายและเข้าใจกลุ่มเป้าหมาย ทุนประเภทนี้จึงเหมาะกับคนทุกประเภทที่มาพร้อม “แรงบันดาลใจ” ในการสร้างพลังเชิงบวกให้กับสังคม”

ในการระดมความคิดเห็นครั้งนี้ได้มีประเด็นที่สนใจมากมาย อาทิ ผู้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนในห้องย่อยประเภททุนด้านยุทธศาสตร์ เสนอให้มีการพิจารณาการเพิ่มยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการใช้ชีวิตหลังโควิดในทุกมิติ ทั้งเรื่องสังคม สิ่งแวดล้อม การแพทย์และเศรษฐกิจ หรือเพิ่มยุทธศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติเข้าไปในปี 65 ด้วย เพราะเป็นประเด็นที่กองทุนสื่อยังไม่เคยมี ว่าด้วยเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ หรือสภาวะโลกร้อน ที่น่าจะเป็นปัญหาสำคัญในปัจจุบันและอนาคต และอยากให้กองทุนช่วยกำหนดขอบเขตความชัดเจนของยุทธศาสตร์ระดับพื้นที่หรือท้องถิ่นด้วยว่าคืออะไร เพื่อให้ผู้ขอทุนสามารถประเมินการทำงานของตนเองในระดับพื้นที่ว่าตรงกับยุทธศาสตร์ที่ตั้งไว้หรือไม่

ในส่วนของห้องย่อยประเภททุนทั่วไป มีข้อคิดเห็นที่น่าสนใจจากผู้เข้าร่วมแลกเปลี่ยน คือ มีผู้เสนอการปรับรูปแบบการให้ทุน โดยคัดเลือกและเกลี่ยการแข่งขันตามจำนวนเงินทุน เช่น โครงการขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ และเสนอให้กองทุนให้ความสำคัญกับโครงการของประชาชนทั่วไป องค์กรภาคประชาสังคม หรือองค์กรเล็ก ๆ มากขึ้น เพื่อกระจายโอกาสการทำงานในภูมิภาคให้ทั่วถึง นอกจากนี้ ยังอยากให้โครงการด้านศิลปะและวัฒนธรรม ที่ในปัจจุบันมีพลวัตสูง มีผู้เชี่ยวชาญที่มีความสามารถในหลายศาสตร์มาร่วมพิจารณาโครงการด้วย และน่าสนใจที่จะเพิ่มการสนับสนุนให้เกิดการสร้าง Soft Power จากงานศิลปวัฒนธรรมเหล่านี้

และสำหรับห้องย่อยทุนความร่วมมือนั้น มีองค์กรที่เคยทำงานร่วมกับกองทุนสื่อสนใจประเด็นเกี่ยวกับการสร้างความรู้เท่าทันสื่อในเรื่องเฟคนิวส์กับกลุ่มคนพิการ โดยมองว่าน่าจะมีโครงการที่ช่วยทำระบบการตรวจสอบเฟคนิวส์สำหรับคนพิการและครอบคลุมกับประเภทคนพิการให้มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จะนำประเด็นข้อเสนอความคิดเห็น จากเวทีรับฟังความคิดเห็นแนวทางและหลักเกณฑ์การจัดสรรทุนครั้งนี้ ไปขับเคลื่อนในเชิงยุทธศาสตร์ เพื่อยกระดับและพัฒนาแนวทางและหลักเกณฑ์การจัดสรรทุนให้ทั่วถึงมากยิ่งขึ้น เพื่อหวังให้เกิดการสนับสนุนโครงการที่ดี ที่สร้างสรรค์เป็นประโยชน์ต่อสังคมต่อไป