เลือกหน้า

(24 ส.ค.66) ที่โรงแรมเอส สุขุมวิท 31 กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จัดงานเสวนาวิชาการและแถลงความร่วมมือเพื่อบูรณาการและเสริมพลังการทำงานของเครือข่ายตรวจสอบข้อเท็จจริง (Thai Fact – Checking Network)

ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวว่า

ปัจจุบันด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ทำให้พฤติกรรมการบริโภคข่าวสารของสังคมได้เปลี่ยนไปอย่างมากนิยมบริโภคข่าวสารผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ เช่น เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ หรือไลน์ มากขึ้น

สื่อมวลชนกระแสหลักก็ต้องยิ่งปรับตัวเพื่อแข่งขันให้เท่าทันกับสื่อสังคมออนไลน์

ในขณะเดียวกันก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า 1 ในปัญหาสำคัญที่มาพร้อมกับความรวดเร็วในการเปิดรับ และส่งต่อข่าวสารนั้น คือเรื่องของคุณภาพและความถูกต้อง อันเป็นช่องว่างในการแพร่กระจายของข่าวลวง (Fake News)

ที่ผ่านมา หน่วยงานต่าง ๆ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในเรื่องนี้มีความพยายามในการตรวจสอบข้อเท็จจริงของข่าวสาร ทั้งจากภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคธุรกิจ สื่อมวลชน และภาคสังคม

อาทิ ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมประเทศไทย, ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ โดยสำนักข่าวไทย, โคแฟค (Cofact) ประเทศไทย และภาคีเครือข่ายทั้งในประเทศ และระดับนานาชาติอย่างเครือข่ายการตรวจสอบข้อเท็จจริงระดับนานาชาติ (International   Fact Checking Network หรือ IFCN)

รวมถึงความพยายามในการบริหารจัดการกับข่าวปลอมจากเจ้าของแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ ทั้งเฟซบุ๊ค และทวิตเตอร์ เป็นต้น

 ซึ่งแต่ละภาคส่วนล้วนมีจุดแข็งและความถนัดในการทำงานที่แตกต่างกัน รวมถึงอาจยังมีช่องว่างในการทำงาน ที่ต้องการกลไกในการช่วยเชื่อมร้อย บูรณาการ และสนับสนุน

‘ภารกิจสำคัญของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ คือ ส่งเสริมและสนับสนุน ตลอดจนการสร้างการมีส่วนร่วมของสังคม ให้มีการศึกษาวิจัย อบรม พัฒนาองค์ความรู้และการสร้างนวัตกรรมด้านสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

ได้เล็งเห็นความสำคัญในการเชื่อมร้อยภาคีเครือข่าย และกลไกตรวจสอบข่าวปลอมจากภาคส่วนต่าง ๆ  โดยเห็นควรให้มีการดำเนินโครงการบูรณาการการทำงานของหน่วยงานภาคีศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม 

ดังนั้นเพื่อเป็นการเสริมพลัง ตลอดจนพัฒนาแนวทางการทำงานร่วมกันทุกภาคส่วนของสังคมที่เกี่ยวข้องในการรับมือกับปัญหาข่าวปลอม ผ่านการศึกษาตามหลักวิชาการ และการรับฟังความเห็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่มีต่อหน่วยงานภาคีศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมในแต่ละภูมิภาค’

สเตฟาน เดลโฟร์ หัวหน้าสำนักข่าว Agence France-Presse (เอเอฟพี) ประจำกรุงเทพ ประเทศไทยรายงานผลการศึกษา “แนวทางการทำงาน และออกแบบระบบสนับสนุนการเชื่อมโยงข้อมูล เพื่อบูรณาการและเสริมพลังภาคีเครือข่ายหน่วยงานตรวจสอบข้อเท็จจริง”

จาก 2 สถาบันชั้นนำ คือ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ และ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง  

วงเสวนา”ถอดบทเรียนการตรวจสอบข้อเท็จจริงในประเทศไทย สู่การสร้างความร่วมมือของภาคีเครือข่าย”

โดย กุลธิดา สามะพุทธิ  Fact checker ประจำกองบรรณาธิการ Co-Fact ประเทศไทย,

พีรพล อนุตรโสตถิ์ ผู้จัดการศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ สำนักข่าวไทย อสมท,

ดร.สันติภาพ เพิ่มมงคลทรัพย์ รองผู้อํานวยการศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

และ ดร.ชำนาญ งามมณีอุดม รองผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ได้ร่วมสรุปในเวทีเสวนา

“สถานการณ์ข่าวลวงในปัจจุบันได้เลวร้ายลงมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทุกภาคส่วนรวมถึงผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม มีความพยายามในการแก้ปัญหาข้อมูลข่าวปลอม การโฆษณาชวนเชื่อ ข้อมูลบิดเบือนที่มีการเผยแพร่ไปอย่างรวดเร็วมาก

สิ่งที่องค์กรสื่อชั้นนำทั่วโลก กำลังทำอยู่คือพัฒนาแนวทางเทคนิคการตรวจสอบโดยเทคโนโลยีดิจิตอล และมีการทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงทางดิจิตอล หลักการสำคัญคือ การคัดกรองข้อมูลที่จะสามารถสร้างผลกระทบได้ในวงกว้าง และข้อมูลที่จะสามารถสร้างความเสียหายได้อย่างรุนแรง

สื่อที่ดีคือสื่อที่มีการตรวจสอบข้อเท็จจริง และสำนักข่าวทุกแห่งต้องการที่จะสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน  การทำงานเป็น Fact Checker หรือผู้ตรวจสอบข้อเท็จจริง”

ขณะที่ ผลการศึกษาวิจัย ด้านแผนงานบูรณาการการทำงานของหน่วยงานภาคีเครือข่ายตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่าต้องมีแนวทางในการจัดการปัญหาข่าวปลอม  โดยการตรวจสอบแหล่งที่มา รายละเอียดข้อเท็จจริงและให้ความรู้กับประชาชน

ในการใช้เครื่องมือแอปพลิเคชั่นที่มีอยู่แล้ว และการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ Social Listening Tool  มีการพัฒนาฐานข้อมูลเพื่อตรวจสอบระหว่างแพลตฟอร์ม และหากเป็นไปได้ควรมีองค์กรกลางที่เชื่อมประสานแพลตฟอร์มต่างๆ รวมถึงการออกข้อกฎหมายควบคุมให้เกิดการรับผิดชอบต่อข้อมูล

สำหรับแนวทางในการพัฒนากลไกการตรวจสอบข้อเท็จจริงนั้น ต้องมีการผลักดันทั้งทางด้านนโยบาย ให้ความสำคัญเป็นวาระแห่งชาติ มีการจัดตั้งหน่วยงานอิสระที่มีหน้าที่ในการตรวจสอบโดยตรง ไปจนถึงการสร้างภาคีเครือข่ายทำงานร่วมกันทั้ง รัฐ เอกชน และประชาชน

ควรจัดตั้งเป็นคณะกรรมการทำงานร่วมกัน และมีกฏหมายที่ชัดเจนมารองรับ ควรมีแพลตฟอร์มให้ประชาชนจัดทำระบบคัดกรองและกำกับดูแล จัดทำฐานข้อมูล (Database) สร้าง Application ในการตรวจสอบ สร้างเว็บไซต์ มีช่องทางในการร้องเรียน แจ้งปัญหา ให้ประชาชนเข้าถึงง่ายและรวดเร็ว มีการพัฒนาระบบค่าตอบแทนในการตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อเพิ่มแรงจูงใจ ให้คนวงกว้างร่วมกันตรวจสอบ

โดยผลการศึกษา ได้ออกแบบแผนการบูรณาการการทำงานของหน่วยภาคีตรวจสอบข้อเท็จจริงออกเป็น 3 ระยะคือระสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ผ่านการบูรณาการ 4 ประเด็น ได้แก่

  1. คน : ในระยะสั้นพยายามให้ความรู้ด้านการตรวจสอบข้อเท็จจริงแก่บุคลากรที่มีอยู่ และขยายไปสู่ระยะกลางในการสร้างบรรณาธิการตรวจสอบและผู้ที่สามารถฝึกอบรมเพื่อไปขยายผล

และในระยะยาวนำไปสู่การพัฒนาบุคคลากรในการบริหารจัดการองค์กรตรวจสอบข้อเท็จจริง

  1. เงิน : ในระยะสั้นมีการระดมแนวทางในการหาทุน ไปสู่ระยะกลางที่จะมีการระดมทุนจากภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับสื่อทั้งในและนอกประเทศ

และในระยะยาวจะมีการพัฒนากฎหมายเกี่ยวกับการใช้เงินค่าปรับจากการทำความผิดด้านข้อมูลข่าวสารมาใช้ในการทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริง

  1. วัสดุอุปกรณ์ : ในระยะสั้นจะเป็นการจัดหาเครื่องมือที่จำเป็นในการทำงานตรวจสอบ ระยะกลางเป็นการขยายระบบงานเทคโนโลยีให้มีความเชื่อมต่อกัน

และในระยะยาวควรมีการพัฒนาระบบที่จะเป็นฐานข้อมูลกลางทั้งในการตรวจสอบเผยแพร่ข้อมูล และนำเทคโนโลยี AI มาช่วยในการทำงาน

  1. การบริหารจัดการ : ในระยะสั้นควรมีการสร้างเครือข่ายในเชิงพื้นที่และเชิงประเด็น และมีการพัฒนายกระดับความสัมพันธ์ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดมากขึ้นในระยะกลาง

และในระยะยาวพยายามสานต่อการทำงานร่วมกันไปจนถึงการผลักดันให้เกิดการยกระดับองค์กรตรวจสอบให้ได้รับการรองรับตามมาตรฐานสากล เช่น IFCN เป็นต้น