(2 กันยายน 2567) สมาชิกวุฒิสภา พิจารณา รับทราบรายงานประจำปี 2566 ของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ โดย ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ชี้แจงสรุปรายงานประจำปี 2566 โดย ระบุว่ากองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ดำเนินการ ตั้งแต่ปี 2558 สำหรับการดำเนินงานในปี 2566 มีงบประมาณกว่า 500 ล้านบาทเศษ โดยได้รับการจัดสรรงบประมาณจากทาง กสทช. ซึ่งการดำเนินการที่ผ่านมาเป็นไปตามมาตรา 5 ของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ โดยระยะที่ 1 ได้เริ่มตั้งแต่ 2561-2565 ปัจจุบันเริ่มแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี ระยะที่ 2 จะสิ้นสุดในปี 2570 ภายใต้ยุทธศาสตร์ 5 ด้าน กองทุนนำมากำหนดกลยุทธ์ 6 สร้าง ดังนี้
- สร้างสื่อ ส่งเสริมให้มีสื่อที่ดี ปลอดภัย และสร้างสรรค์ โดยเฉพาะสื่อของกลุ่มเฉพาะ ทั้งกลุ่มเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้พิการ
- สร้างคน ส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรที่เป็นผู้ผลิตสื่อในทุกระดับ
- สร้างภูมิคุ้มกัน หรือสร้างทักษะการรู้เท่าทันสื่อให้กับเด็ก เยาวชน และผู้สูงอายุ ซึ่งปัจจุบันได้รับผลกระทบจากข้อมูลข่าวสารเชิงลบจำนวนมาก
- สร้างองค์ความรู้ กองทุนฯ ศึกษาวิจัยพัฒนานวัตกรรม ทำงานวิจัยในรูปแบบต่าง ๆ รวมถึงจัดให้มีวารสารทางวิชาการของกองทุน
- สร้างเครือข่ายกับองค์กรต่าง ๆ การขับเคลื่อนสื่อ หรือรณรงค์ให้รู้เท่าทันสื่อ ไม่สามารถดำเนินการโดยหน่วยงานเดียวเพียงลำพัง จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุน และร่วมมือกับทุกฝ่าย
- สร้างองค์กรให้ทันสมัย มีความโปร่งใส ตอบสนองต่อวัตถุประสงค์ของกองทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ด้านการดำเนินงาน ในปี 2566 ได้จัดทำการศึกษาให้มีผลสัมฤทธิ์ของการใช้ พ.ร.บ. โดยมอบหมายให้สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เป็นผู้ศึกษาประเมินผล และรายงานผลสัมฤทธิ์ ผลการศึกษาชี้ชัดว่า กองทุนฯ ดำเนินงานบรรลุตามวัตถุประสงค์ที่จัดตั้ง แต่มีข้อเสนอแนะในข้อจำกัดด้านกฎหมายเรื่องของที่มางบประมาณ เนื่องจากการรับเงินจากกองทุนไม่ได้กำหนดวงเงินชัดเจน แต่เป็นการให้พิจารณาจัดสรรตามความจำเป็นและเพียงพอต่อการดำเนินงาน ซึ่งในทางปฏิบัติมีข้อจำกัด จึงเห็นควรดำเนินการผลักดันให้มีการแก้กฎหมายในโอกาสต่อไป
นายเทวฤทธิ์ มณีฉาย สมาชิกวุฒิสภากลุ่มที่ 18 กลุ่มสื่อสารมวลชน ผู้สร้างสรรค์วรรณกรรม ระบุว่า มีข้อสังเกตและข้อเสนอแนะ ในการผลักดันและส่งเสริมทักษะการรู้เท่าทันและเฝ้าระวังสื่อ ให้เข้าสู่ระบบการศึกษา เพื่อสร้างความคิดเชิงวิพากษ์ สร้างเครื่องมือ ติดอาวุธทางปัญญาให้กับเด็กและเยาวชน นอกจากนี้ ควรมีการสนับสนุนพื้นที่ให้สื่อจำพวกงานเชิงสืบสวนสอบสวน ข่าวเจาะ งานเชิงลึก สร้างบริบทของสื่อที่จะสร้างสรรค์ในสังคมที่มีข้อจำกัดด้านกฎหมายหลากหลาย สนับสนุนการรวมกลุ่มสร้างอำนาจการต่อรองให้กับสื่อ เพื่อให้เกิดสวัสดิภาพ สวัสดิการของสื่อมวลชน ให้ชีวิตที่ดี จะทำให้เกิดงานสื่อที่ดีขึ้น
นายวิวัฒน์ รุ้งแก้ว สมาชิกวุฒิสภากลุ่มที่ 3 กลุ่มการศึกษา กล่าวว่า นอกจากการสร้างสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์แล้ว สิ่งสำคัญที่ต้องการให้กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ดำเนินการคือ การผลิตผลงานหรือโครงการที่เกี่ยวกับการสร้างความเข้มแข็งให้กับสถาบันครอบครัว ลดช่องว่างระหว่างวัย นับเป็นโจทย์ใหญ่ที่ต้องการให้กองทุนผลักดันมากยิ่งขึ้น
ด้านผู้จัดการกองทุนสื่อ กล่าวว่า “กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ให้ความสำคัญกับการสร้างหลักสูตรการรู้เท่าทันสื่อ ให้เข้าสู่ระบบมหาวิทยาลัย ในปีที่ผ่านมาได้ร่วมลงนามความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยหลายแห่ง โดยปัจจุบันเติบโตขึ้นตามลำดับ สำหรับเรื่องข้อจำกัดของสื่องท้องถิ่นที่มีการร้องเรียนว่าเข้าถึงทุนได้ยาก กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ มีการลงพื้นที่ไปยังท้องถิ่น เพื่อเปิดช่องทุนประเภทความร่วมมือเพื่อแก้ไขข้อจำกัดดังกล่าว ขณะที่ประเด็นการเข้าถึงยาก กองทุนฯ มีการจัดการสอน และวิธีการเขียนโครงการ ซึ่งในปีนี้มีการรายงานให้บอร์ดแก้ไขข้อบังคับเพื่อสนับสนุนแก่ผู้ที่มีผลงานเป็นที่ประจักษ์แล้ว สามารถต่อยอดได้ พร้อมกล่าวขอบคุณและยืนยันว่าจะนำข้อเสนอแนะทุกข้อของสมาชิก ไปปรับปรุงการดำเนินการของกองทุน ให้สื่อสามารถใช้ประโยชน์และเข้าถึงประชาชนมากยิ่งขึ้น” นายธนกร กล่าว
ความเห็นล่าสุด