กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เปิดรับข้อเสนอโครงการหรือกิจกรรม เพื่อขอทุนผลิตสื่อสร้างสรรค์ประจำปี 2566 จัดสรรงบประมาณ 300 ล้านบาท เฟ้นหาผู้ผลิตสื่อคุณภาพรับทุนผลิตสื่อสร้างสรรค์ ร่วมสร้างมูลค่าเศรษฐกิจ และสร้างสรรค์สังคม เปิดรับสมัครแล้วตั้งแต่วันที่ 1 ถึง 31 ต.ค. 65
ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันสื่อต่าง ๆ มีอิทธิพลต่อการเรียนรู้และพฤติกรรมของเด็กและเยาวชนมากขึ้น สื่อที่เหมาะสมสำหรับเด็กและเยาวชนมีจำนวนน้อย การผลิตสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์มีข้อจำกัดหลายประการ ทั้งไม่เป็นที่นิยมของผู้ผลิตและสนับสนุนการผลิตสื่อ ทำให้ขาดเงินทุนในการผลิตและการเผยแพร่สื่อที่มีคุณภาพ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีแหล่งเงินทุนเพื่อใช้ในการผลิต การพัฒนาและการเผยแพร่สื่อที่ดีมีคุณภาพ และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ดังนั้น กองทุนฯ จึงได้ประกาศเปิดรับข้อเสนอโครงการหรือกิจกรรมเพื่อขอรับการสนับสนุนเงินจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัย และสร้างสรรค์ ประจำปี 2566
ทั้งนี้ ทุนที่จัดสรรให้ แบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ 1.ประเภทเปิดรับทั่วไป (Open Grant) มีขอบเขตของโครงการหรือกิจกรรมการสนับสนุนในหัวข้ออิสระ โดยกำหนดกลุ่มเป้าหมายผู้รับสื่อเฉพาะ 4 กลุ่ม ได้แก่ เด็กและเยาวชน, ผู้สูงอายุ ที่กำลังมีมากขึ้น (เกินกว่า 20%) เป็นกลุ่มที่ทรงคุณค่า, คนพิการ (จำกัดทางการได้เห็นหรือการได้ยิน) และผู้ด้อยโอกาส (คนชายขอบ/กลุ่มชาติพันธุ์) และประชาชนทั่วไป โดยให้อิสระในการนำเสนอ และขอให้มองกลุ่มเป้าหมายเป็นตัวตั้ง วงเงินงบประมาณรวม 90 ล้านบาท
2.ประเภทเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Grant) เอาสาระเนื้อหาเป็นตัวตั้ง มีขอบเขตของโครงการหรือกิจกรรมการสนับสนุนในหัวข้อ ดังนี้
2.1 ชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) กับมิติทางสังคม ให้สอดคล้องกับสภาวะที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว จึงต้องมีสื่อออกมาให้คนเข้าใจถึงความเปลี่ยนแปลงและปรับตัวได้
2.2 พหุวัฒนธรรมและความหลากหลายทางสังคม เพราะสังคมไทยเรามีเสน่ห์ แต่ละท้องถิ่นมีอัตลักษณ์ มีความผสมกลมกลืน ขณะเดียวกันบางเรื่องเราก็มีมุมมอง มีความเห็นแตกต่างกัน ทำให้เกิดความขัดแย้งกันได้ จึงต้องมีสื่อออกมาผสานความเข้าใจอันดีต่อกัน ให้เคารพในกันและกัน ดังความตั้งใจของกองทันฯ ที่มุ่งส่งเสริมคนไทยให้อยู่ร่วมกัน สามารถใช้ชีวิตในสังคมที่มีความแตกต่างหลากหลายได้อย่างมีความสุข
2.3 ทักษะการรู้เท่าทันสื่อและการเฝ้าระวังสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ ต้องมีหลักคิดวิเคราะห์ อย่าด่วนเชื่อ แต่ควรไตร่ตรองก่อน และให้ตระหนักว่า ข่าวสารที่ได้รับมาจากสื่อมีทั้งบวกและลบ มีปัจจัยเบื้องหลัง จึงควรตรวจสอบเสมอ
2.4 การสร้างมูลค่าจากประเด็นเชิงวัฒนธรรม (Soft Power) เช่น วิถีชีวิต ชุมชน ศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น เกร็ดประวัติศาสตร์ การท่องเที่ยว อาหาร ให้เผยแพร่ออกไปและรับรู้ในระดับสากล และเกิดพลัง
2.5 การเสริมสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัว และการลดช่องว่างระหว่างวัย เพราะทุกวันนี้ มีหลายเรื่องที่คุยกันไม่ได้ในครอบครัว สื่อต้องหาวิธีสานความสัมพันธ์นี้
2.6 การรับมือกับข้อมูล บิดเบือน (Disinformation) ประทุษวาจา (Hate Speech) และการระรานในโลกออนไลน์ (Cyberbullying) ทุกวันนี้เราเห็นบรรยากาศแบบนี้อยู่เนืองๆ ทำอย่างไรจึงจะลดข้อมูลเหล่านี้ลงได้
2.7 การพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะเป็นสื่อหน้าใหม่หรือหน้าเก่า ในวงเงินงบประมาณรวม 170 ล้านบาท
และ 3.ประเภทความร่วมมือ (Collaborative Grant) มีขอบเขตของโครงการหรือกิจกรรมที่ดำเนินงานในหัวข้อเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของประชาชน การเฝ้าระวังสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ หรือการส่งเสริมสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เป็นกลุ่มภาคีเครื่อข่ายที่เป็นนิติบุคคล ทำงานร่วมกับกองทุนฯ ที่พร้อมจะขับเคลื่อนร่วมกันอย่างต่อเนื่องในวงเงินงบประมาณรวม 40 ล้านบาท
นอกจากนี้ ดร.ธนกร ยังได้เผยเคล็ดลับสำหรับผู้ขอทุน เพื่อจะมีโอกาสได้รับพิจารณา จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำความรู้จักกับกองทุนฯ เข้าใจแนวคิด วัตถุประสงค์ ยุทธศาสตร์ เพื่อการคิดโครงการได้ครอบคลุมตอบโจทย์กองทุนฯ ในทุกมิติ หากคิดครบ รู้จักตัวเราเองว่าเก่งด้านใด พร้อมรู้จักกองทุนฯ ดูเนื้องานของเราแล้วตั้งงบประมาณขอมาอย่างสมเหตุสมผล โอกาสที่จะได้รับทุนก็เป็นไปได้สูง และควรยื่นโครงการแต่เนิ่นๆ
ทั้งนี้ ผู้ขอรับการสนับสนุนสามารถยื่นคำขอได้เพียงหนึ่งโครงการหรือกิจกรรม โดยเลือกประเภทใดประเภทหนึ่งและหัวข้อย่อยข้อใดข้อหนึ่ง ยกเว้นผู้ขอรับการสนับสนุนที่เป็นนิติบุคคลประเภทสถานศึกษา สามารถยื่นคำขอรับการสนับสนุนได้มากกว่าหนึ่งโครงการหรือกิจกรรม โดยผู้ขอทุนสามารถตรวจสอบคุณสมบัติ และยื่นคำขอ พร้อมแสดงรายละเอียดโครงการหรือกิจกรรม และงบประมาณที่ขอรับการสนับสนุนได้ทางเว็บไซต์ www.thaimediafund.or.th (บุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ ต้องให้ ผู้ปกครอง ยินยอมในการยื่นคำขอ) โดยเปิดรับโครงการหรือกิจกรรมตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม ถึง 31 ตุลาคม 2565 ภายในเวลา 16:30 น. สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร.02-273-0116-9 ในวันและเวลาราชการ
“การขอทุนไปจัดทำสื่อ คือ การสร้างโอกาส แต่ที่มากไปกว่านั้น คือ การได้ผลิตสื่อที่ดีมีคุณภาพเข้ามาลดทอนสื่อที่ไม่สร้างสรรค์หรือบั่นทอนสังคม ให้มีสัดส่วนน้อยลง และยังสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ แต่สิ่งสำคัญกว่าอื่นใด เรามั่นใจว่า สื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์จะสามารถตอบโจทย์ปัญหาและเปลี่ยนแปลงสังคมได้” ดร.ธนกร กล่าวทิ้งท้าย
ความเห็นล่าสุด