เลือกหน้า

ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน ประธานอนุกรรมการเกี่ยวกับการเฝ้าระวังสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษาในคณะกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เปิดเผยว่า ในยุคที่เทคโนโลยีดิจิทัลก้าวหน้าอย่าง รวดเร็ว สื่อออนไลน์กลายเป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถเข้าถึงและเผยแพร่ได้ง่าย ท่ามกลางโอกาสในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ ยังมีสื่อที่ไม่ปลอดภัย บิดเบือน และเป็นอันตรายแพร่กระจายอย่างกว้างขวาง

กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ โดยคณะอนุกรรมการเฝ้าระวังสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการพัฒนาสื่อที่ปลอดภัย ตลอดจนสนับสนุนให้ประชาชน ให้มีทักษะในการรู้เท่าทันสื่อ โดยมีการจัดกิจกรรมต่างๆ เช่น การเสวนา อบรม และประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความตระหนักรู้และรับมือกับภัยคุกคามทางสื่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจากจากการเสวนาสัญจร
เพื่อส่งเสริมการรู้เท่าทันและเฝ้าระวังสื่อใน 5 ภูมิภาค ปี 2566 ที่ผ่านมา พบว่าบริบทพื้นที่ภาคเหนือ มีการมุ่งเน้นไปยังการใช้สื่อของเด็กและเยาวชนในมิติการรู้เท่าทันสื่อ การใช้เครื่องมือสื่อในการเรียนรู้และพัฒนาทักษะตนเองโดยเฉพาะอัตลักษณ์
ทางวัฒนธรรม ความเป็นชาติพันธ์ทำให้เด็กและเยาวชนเกิดความภูมิใจและสามารถสื่อสาร เรื่องราวทางวัฒนธรรมของตนเอง รวมถึงการรู้เท่าทันสื่อ เพื่อจะได้ดูแลตัวเองและคนใกล้ชิดคนในชุมชนได้ สำหรับปัญหาที่พบ เช่น การหลอกให้ซื้อสินค้าออนไลน์ ,การสร้างเพจปลอมการซื้อสินค้าออนไลน์ , การหลอกลวงให้ลงทุน, การถูกหลอกให้รัก , การพนันออนไลน์ที่พบมากในสถานศึกษา , ภัยจากคอลเซ็นเตอร์และการหลอกลวงผ่านโซเชียลมีเดีย จนนำไปสู่การถูกล่วงละเมิดทางเพศ โดยมีแนวทางแก้ปัญหา อาทิ
การผลิตสื่อสร้างสรรค์ผ่านทางออนไลน์ การใช้เครือข่ายสื่อที่มีอิทธิพลในพื้นที่แจ้งข่าวสารต่างๆ และให้ความรู้พร้อมช่องทางการช่วยเหลือ ให้สถาบันการศึกษาช่วยขับเคลื่อนเพื่อแก้ปัญหา และการให้ข้อมูลเมื่อประชาชนถูกหลอกลวงทางออนไลน์สามารถดำเนินการได้อย่างทันท่วงที  ในปัจจุบัน AI ก็ยังเข้ามามีบทบาทสำคัญในการผลิตและเผยแพร่สื่อ มีประโยชน์ทั้งด้านบวก และด้านลบ ส่งผลให้ประชาชนต้องมีความรู้เท่าทัน AI เพื่อป้องกันตนเองจากข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ดังนั้น การรู้เท่าทันสื่อ และ AI
จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ช่วยให้เราสามารถเข้าใจและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของโลกดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สำหรับงานเสวนาสัญจรเกี่ยวกับการส่งเสริมการรู้เท่าทันและเฝ้าระวังสื่อ 5 ภูมิภาค ระยะที่ 2 ภายใต้แนวคิด “รู้จัก รู้ใช้ รู้ทัน รู้รอบสื่อ AI” เพื่อการขับเคลื่อนสังคม เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้สื่ออย่างปลอดภัยสร้างสรรค์ และมีความรับผิดชอบต่อสังคม จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 4  ภายในงานมีการอบรมบรรยาย ในหัวข้อ” Cybercrime Literacy : รู้ทัน AI ปลอดภัยจากมิจฉาชีพออนไลน์” โดย ดร.พฤทธิ์ พุฒจร รักษาการแทนผู้ช่วยคณบดีสำนักวิชาเทคโนโลยีดิจิทัลประยุกต์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และ มีกิจกรรม แลกเปลี่ยน เรียนรู้ โดยแบ่งเป็นกลุ่มตามกลุ่มเป้าหมายการทำงานของกองทุนพัฒนาสื่อฯ  เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ การตระหนักถึงความสำคัญของการส่งเสริมการรู้เท่าทัน และเฝ้าระวังสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์

โดยท้ายที่สุด ข้อมูลจากการเสวนาสัญจรทั้ง 5 ภูมิภาค จะถูกนำมาสรุปในงานสรุปผลการรู้เท่าทันและเฝ้าระวังสื่อประจำปี 2568 วันพฤหัสบดีที่ 27 มีนาคมนี้ โดยมีการจัดนิทรรศการและวารสารสะท้อนข้อมูลในแต่ละพื้นที่ พร้อมเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมหารือถึงแนวทางการแก้ปัญหาสื่อที่ไม่ปลอดภัยอย่างเป็นระบบ เพื่อให้สังคมไทยมีภูมิคุ้มกันทางสื่อและสามารถใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์สูงสุด