เลือกหน้า

(16-17 พฤศจิกายน 2567) ผู้แทนจากเครือข่ายสื่อชุมชนระดับภูมิภาคในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง กว่า 50 เครือข่าย ทั้งผู้ผลิตสื่อมืออาชีพ สื่อท้องถิ่น สื่อทางเลือกและหน่วยงานที่ใช้สื่อเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนปัญหาและพัฒนาสังคม ได้เข้าร่วมการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ ครั้งที่ 1 ณ จังหวัดพิษณุโลก ภายใต้ชื่องานเวที “สัมมนา 4 ภาค ขับเคลื่อนเครือข่ายสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ สู่ชุมชน สร้างสังคมเข้มแข็ง” ปีที่ 2  ซึ่งจัดขึ้นโดยคณะอนุกรรมการเกี่ยวกับการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

          นายประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์  ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสื่อสารมวลชน ประธานอนุกรรมการเกี่ยวกับการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน กล่าวว่า “การสัมมนาเชิงปฏิบัติการฯ ในระดับภูมิภาค มีการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่องเข้าสู่ปีที่ 2 โดยปีแรกมีผู้เข้าร่วมกว่า 200 เครือข่าย จากทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ทำให้เกิดการสร้างเครือข่ายและส่งต่อข้อมูลสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ออกไปอย่างกว้างขวาง เกิดการพูดคุยแลกเปลี่ยนกันระหว่างเครือข่ายสื่อในระดับภูมิภาค มีการปรึกษาหารือกันก่อนจะเสนอแผนงานเพื่อขอทุนสนับสนุน ทำให้เกิดการเชื่อมโยงการทำงานร่วมกัน
ซึ่งกองทุนฯ เห็นว่าเครือข่ายสื่อระดับภูมิภาคเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนและเปลี่ยนแปลงสังคม และช่วยให้ประชาชนผู้รับสื่อมีความรู้เท่าทันสื่อ นอกจากนี้กองทุนฯ ยังมีโครงการที่จะสนับสนุนและยกระดับการทำงานของเครือข่ายในระดับภูมิภาคให้เกิดความเข้มแข็งยิ่งขึ้น

          ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.สุนทรี ทับทิมไทย ชัยสัมฤทธิ์โชค ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการคุ้มครองผู้บริโภค รองประธานคณะอนุกรรมการฯ กล่าวขอบคุณผู้เข้าร่วมกิจกรรม และเห็นว่างานสัมมนาเชิงปฏิบัติการฯ ในระดับภูมิภาคนี้ เป็นการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการที่ทำให้ได้เห็นถึงพลังและความตั้งใจของภาคีเครือข่ายในการร่วมงานกับกองทุนฯ ซึ่งทางกองทุนฯเองก็มีแนวทางในการสนับสนุนการทำงานของเครือข่ายอย่างต่อเนื่องต่อไป

          จากนั้น ดร. ชำนาญ งามมณีอุดม รองผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ได้ขึ้นบรรยายพิเศษในหัวข้อ “10 ปี กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ก้าวผ่านการเปลี่ยนแปลงสู่เส้นทางอนาคต” โดยเผยแผนงานในอนาคตของกองทุนฯ 3 ด้าน ได้แก่ การสร้าง TMF Academy ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มการเรียนรู้ที่ให้ความรู้และทักษะเฉพาะด้านสื่อสารมวลชน  การขับเคลื่อนงานสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และการสร้างความร่วมมือกับภาคีเครือข่าย จากนั้นได้บรรยายต่อหัวข้อ “คิด เขียน ข้อเสนอโครงการฯ ขับเคลื่อนและพัฒนาเครือข่ายสื่อฯ ที่ยั่งยืน”

“ในปีที่ 10 ที่ผ่านมานี้ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ยังคงสนับสนุนให้ภาคีที่มีเจตนารมณ์ตรงกัน ร่วมกันออกแบบสื่อพลเมืองและแผนงาน โดยเน้นแผนงานที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลง สร้างผลกระทบต่อสังคม ควบคู่ไปกับการกระจายการสนับสนุนไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ให้ครอบคลุม เพื่อแก้ไขปัญหาในแต่ละพื้นที่นำไปสู่สังคมที่ดีขึ้น” ดร.ชำนาญ กล่าว

          ภายในงานยังมีเวทีเสวนา “แลกเปลี่ยน เรียนรู้ ร่วมกันสร้างนิเวศสื่อปลอดภัยสู่สังคม” โดยมีวิทยากรตัวแทนในภาคเหนือ ที่เป็นกรณีศึกษาที่ประสบความสำเร็จ หรือ Success Cases มาร่วมถ่ายทอดประสบการณ์

          เริ่มด้วย อาจาราย์ยรรยงวรกร ทองแย้ม อาจารย์ผู้สอนประจำคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มผลิตสื่อภาพยนตร์และสารคดี ดึงเสน่ห์ตลาดใต้ ปัดฝุ่นทุนทางวัฒนธรรมของพิษณุโลกที่หลายคนหลงลืมให้กลับมาโลดแล่น ได้ให้คำแนะนำว่า การทำสื่อด้านวัฒนธรรมต้องมีความ “จริงใจ” และมีการเก็บข้อมูลจากคนในพื้นที่ คนทำสื่อจะต้องรักษาสัมพันธภาพที่ดีกับคนในพื้นที่ และเปิดพื้นที่ให้คนในพื้นที่ซึ่งเป็นเจ้าของเรื่องราวเป็นผู้บอกเล่าด้วยตนเอง จึงจะเกิดเป็น “เนื้อหา” ที่มีพลัง คาดหวังมีการจับมือเครือข่ายพากันขยับและขับเคลื่อนสังคมต่อไป

          จากนั้น นายจุมพล อภิสุข นักขับเคลื่อนสื่อซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ที่ได้รับทุนจากกองทุนฯ ภายใต้ชื่อโครงการ “เทศกาลน่าน” หรือ Nan Festival กล่าวว่า “จังหวัดน่านเป็นจังหวัดที่ไม่มีมหาวิทยาลัย คนหนุ่มสาวในวัยเรียนและคนทำงานจึงต้องออกไปจากพื้นที่  แต่น่านมีความหลากหลายทางศิลปะและวัฒนธรรม จึงพยายามเชิญชวนคนหนุ่มสาวกลับบ้าน รวมทั้งดึงคนในชุมชน ทั้งเด็ก ผู้สูงวัย และศิลปินให้มาทำงานด้วยกันผ่านการจัดกิจกรรม เช่น
จัดนิทรรศการวาดเขียนเมืองน่าน เปิดรับเด็กและเยาวชนมาร่วมกันผลิตหนังสั้น เป็นต้น เพื่อให้เกิดพื้นที่ในการสืบทอดวัฒนธรรมบางอย่างที่กำลังเลือนหายไป

          ในส่วนของ นายปริญญา แทนวงษ์ นักขับเคลื่อนสื่อภาคประชาชน จังหวัดพิษณุโลก กับบทบาทนักข่าวพลเมือง ที่ใช้สื่อนำเสนอปัญหาชุมชน ทั้งภัยแล้ง น้ำท่วม ภัยพิบัติ มีความภาคภูมิใจที่มีโอกาสได้นำเสนอผลงานผ่านเวทีสัมมนาครั้งนี้ โดยคาดหวังว่าจะสามารถเป็นต้นแบบและสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักข่าวพลเมืองภาคประชาชน ร่วมกันสร้างเครือข่ายและแลกเปลี่ยนประเด็นข่าวกันในอนาคต

          ในช่วงท้ายของการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ มีการระดมความคิดเห็น และนำเสนอแผนงานที่เกิดจากการเรียนรู้กระบวนการออกแบบโครงการแบบ “Problem-based Design” ในการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์เพื่อขับเคลื่อนสังคม โดยตัวแทนจากภาคีเครือข่าย เช่น โครงการ “เสียงสะท้อนจากบางระกำ” ที่ต้องการนำเสนอมุมมองที่แตกต่างและผลกระทบในการใช้พื้นที่ อ.บางระกำเป็นพื้นที่รองรับน้ำท่วมขัง หรือ“บางระกำโมเดล” โดยอาจนำเสนอเป็นบทเพลง หนังสั้น หรือสารคดี หรือโครงการ “ล่า ท้า โกง” ที่มีเป้าหมายในการแก้ไขปัญหาของ

ประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะเด็กและผู้สูงอายุ ซึ่งมักถูกหลอกลวงโดยมิจฉาชีพออนไลน์ หรือคอลเซ็นเตอร์ โดยจะฝึกอบรมเยาวชนมาร่วมกันผลิตสื่อให้เกิดการเท่าทันเล่ห์เหลี่ยมมิจฉาชีพ เป็นต้น

          นอกจากนี้ ยังมีความคิดเห็นบางส่วนจากเครือข่ายสื่อชุมชนจังหวัดพิษณุโลก ที่กล่าวว่า เวทีสัมมนาในครั้งนี้ เป็นการสร้างเครือข่าย ร่วมกันใช้พลังความคิดสร้างสรรค์ สร้างสื่อที่ทรงพลัง เกิดแรงบันดาลใจในการเขียนแผนงานนำเสนอกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เช่น สารคดีสั้นอาหารถิ่นพิษณุโลก สื่อสำหรับเด็กและเยาวชนเพื่อให้เท่าทันสื่อ คลิป VDO ภาษามือ นำเสนอเรื่องราวที่มีประโยชน์สำหรับชมรมคนหูหนวก จังหวัดพิษณุโลก เป็นต้น

          สำหรับเวทีสัมมนา 4 ภาค “ขับเคลื่อนเครือข่ายสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ สู่ชุมชน สร้างสังคมเข้มแข็ง” ปีที่ 2 ในครั้งต่อไป จะจัดขึ้นที่ภาคกลางที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ระหว่างวันที่ 30 พ.ย.- 1 ธ.ค. 2567 ติดตามรายละเอียดได้ที่ เฟซบุ๊กเพจ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และ https://www.thaimediafund.or.th/