“ตอนแรก ๆ พ่อแค่ยึดมือถือ จำกัดเวลาการเล่นคอมฯ แต่ฝันก็ดื้อ ยังคงเล่นต่อ สุดท้ายมีปากเสียงกันรุนแรง
พ่อโกรธมาก ยกคอมฯไปทุ่มทิ้ง แล้วก็เอาไม้แขวนเสื้อมาตีฝันด้วย”
ฝัน นภัสพร อุปจ๊ะ นักกีฬา E-sport ทีมชาติไทย ยังคงจำภาพเหตุการณ์ในวันที่ถูกพ่อทำโทษได้ดี หลังเธอเริ่มเล่นเกมตั้งแต่ 10 ขวบ ก่อนมาติดเกมอย่างหนัก ชนิดแบบเล่นทั้งวันทั้งคืน ดึกดื่นจนถึงตีสองตีสาม กระทั่งผลการเรียนตกต่ำ พ่อแม่ตักเตือนอะไรก็ชอบเถียง ไม่ฟัง ไม่ยอมรับ เป็นเหตุให้ทะเลาะกันอยู่บ่อยครั้ง และความรุนแรงในครอบครัวก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนมาถึงวันที่พ่อโมโหมาก ถึงขั้นโยนคอมพิวเตอร์ทิ้ง
“ในวันที่เกิดเรื่อง น่าจะเป็นจุดตกต่ำที่สุดในชีวิตของฝันแล้ว ตอนนั้นมองว่ามันเป็นความรุนแรงในครอบครัว เสียใจมาก รู้สึกว่าไม่เหลืออะไรแล้ว ไม่มีใครเข้าใจ ไม่มีใครต้องการเราเลย”
หลังจากนั้นฝันก็พยายามพิสูจน์ตัวเอง ด้วยการกลับมาตั้งใจเรียน และตั้งใจฝึกซ้อมเล่นเกมไปด้วย กระทั่งได้เป็นนักกีฬาE-sport ทีมชาติไทย ไปแข่งกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 31 ที่ประเทศเวียดนาม และคว้าเหรียญทองแดงกีฬาE-sport “League of Legends: Wild Rift” ประเภททีมหญิง มาครอง
“ก่อนเป็นนักกีฬาทีมชาติ ที่บ้านแทบไม่ได้ยอมรับ เขากังวลว่าอนาคตจะดีไหม ให้ลองหาอย่างอื่นทำน่าจะดีกว่า ฝันก็ไม่ได้เถียงอะไร รับฟัง และพยายามพิสูจน์ให้เขาเห็น ฝึกซ้อมไปเรื่อย ๆ จนได้ไปแข่งซีเกมส์ และได้เหรียญทองแดงกลับมา จากนั้นพ่อแม่ก็มองฝันดีขึ้น เขาภูมิใจในตัวเรา มันเป็นเรื่องที่ฝันดีใจมาก ที่เขายอมรับในตัวฝันมากขึ้น”
เรื่องราวชีวิตของ ฝัน นภัสพร อุปจ๊ะ จากเด็กติดเกม ที่กว่าจะได้มาเป็นนักกีฬา E-sport ทีมชาติไทย เป็น 1 ใน 12 บุคคลต้นแบบ ที่นำเสนออยู่ในรายการทอล์ค “Winner Gamer เกมพิชิตฝัน II” ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ประเภทเชิงยุทธศาสตร์ ประจำปี 2564 มีทั้งหมด 12 ตอน เริ่มออกอากาศทางช่อง 9 Mcot HD ตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว แต่ยังสามารถชมย้อนหลังได้ทางยูทูบ
ปริฉัตร์ บุญสาร และทีมงานบริษัท เท่นิยม จำกัด ผู้ผลิตรายการนี้ บอกว่าบุคคลต้นแบบทั้ง 12 คน ใน 12 ตอน ที่คัดสรรมา ล้วนมีเรื่องราวชีวิตและแง่คิด จากประสบการณ์ที่เคยพ่ายแพ้หรือล้มเหลวมาก่อน กว่าที่จะประสบความสำเร็จ ซึ่งแต่ละคนแต่ละครอบครัวก็จะมีวิธีจัดการชีวิตที่แตกต่างกันออกไป จึงอยากให้พ่อแม่ผู้ปกครองได้รับชม เพราะประสบการณ์จากบุคคลต้นแบบ ผู้ปกครอง เพื่อน และนักจิตวิทยาที่มาให้คำแนะนำในรายการทุก ๆ ตอน สามารถนำไปประยุกต์ปรับใช้ได้ในชีวิตจริง
“Winner Gamer เกมพิชิตฝัน II” ใช้เวลาผลิตอยู่หลายเดือน มีความท้าทายตั้งแต่การค้นหาข้อมูลเรื่องราวชีวิตของบุคคลต้นแบบที่ความชัดเจน ดูแตกต่างและน่าสนใจ การนำเนื้อหาที่ได้มาเล่าเรื่องให้น่าชมและได้ประโยชน์กับครอบครัวที่มีปัญหาลูกหลานติดเกม รวมถึงการบาลานซ์เนื้อหาไม่ให้สุดโต่งไปในทางใดทางหนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากมาก
“เราไม่ได้นำเสนอว่าเขาประสบความสำเร็จ การเล่นเกมมันดีมาก แต่เราจะเน้นนำเสนอเรื่องราวระหว่างทาง ว่าเส้นทางที่เดินไปมันก็มีอุปสรรคอย่างไร ไม่ใช่เล่นเกม 24 ชั่วโมงแล้วจะรวยได้ กว่าจะก้าวข้ามช่วงนี้ไปได้ เขาต้องจัดการชีวิตยังไงบ้างในช่วงที่ผ่านมา เราจะเลือกนำเสนอในแง่มุมนี้ หรือในเคสที่เป็นเด็กติดเกม มีปัญหาทะเลาะกับครอบครัวรุนแรง เราก็จะไม่นำเสนอในแง่มุมแย่ ๆ ของเขา แต่จะนำเสนอว่าในช่วงที่เขาติดเกมและมีปัญหากับครอบครัว เขาผ่านตรงนั้นมาได้อย่างไร จัดการกับชีวิตยังไงมากกว่า”
หลังเผยแพร่รายการ ก็มีฟีดแบคที่น่าสนใจจากหลากหลายกลุ่ม ทั้งเด็ก ๆ และเยาวชนที่เป็นแฟนคลับติดตามผลงานของพี่ ๆ ที่เป็นบุคคลต้นแบบ ผู้ปกครองที่กำลังมีปัญหาลูกหลานติดเกม รวมถึงเครือข่ายที่ให้คำแนะนำเกี่ยวกับเด็กติดเกม ที่เข้ามาติดตามเพจ “Winner Gamer เกมพิชิตฝัน II” และช่วยแชร์เผยแพร่ต่อไปยังพ่อแม่ผู้ปกครองที่อยู่ในเครือข่ายให้ได้นำไปใช้ประโยชน์
“มีผู้ปกครองหลายคนเข้ามาคอมเมนต์ในยูทูบ ส่วนใหญ่บอกว่าลูกเขาเป็นแบบนี้อยู่พอดีเลย ได้ดูรายการแล้ว
จะเอากลับไปใช้ และจะไปแนะนำให้ลูกหลานดูด้วย อย่างป้าคนหนึ่ง บอกว่าหลานเขาติดเกมอย่างนี้เลย ดีใจมากที่ได้มาเห็นคลิปนี้ เขาจะลองนำเทคนิคเหล่านี้กลับไปใช้กับหลาน เราเองก็ดีใจที่เขาได้มาดูรายการของเรา แล้วรู้สึกเหมือนเขาได้เจอทางออกที่จะช่วยแก้ปัญหาให้กับครอบครัวของเขาได้”
“Winner Gamer เกมพิชิตฝัน II” ไม่ได้นำเสนอแค่เรื่องราวชีวิตของบุคคลต้นแบบจากเด็กติดเกม แล้วพัฒนาไปเป็นเกมเมอร์ หรือ นักกีฬาE-sportชื่อดังเท่านั้น แต่ยังมีอีกหลายคน ที่นำเอาความรู้จากการเล่นเกมไปพัฒนา
เป็นอาชีพที่เขาชอบได้ด้วย ประสบการณ์และแง่คิดจากพวก อาจจะเป็นคำตอบให้กับอีกหลาย ๆ บ้าน อีกหลาย ๆ ครอบครัว ที่ยังคิดไม่ตกว่าจะต้องจัดการกับลูกหลานยังไง ได้เข้าใจและมองเห็นทางออกได้มากขึ้น
ความเห็นล่าสุด